เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ได้มีโอกาสลงพื้นที่ ร่วมกับ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจครอบครัว 3 นักเรียน ม.6 ประสบเหตุคนร้ายยิงเสียชีวิต รวมถึงได้ติดตามการจัดการเรียนการสอน ณ โรงเรียนบ้านห้วยเสียด และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 37 ณ จังหวัดกระบี่
นายอัมพร กล่าวว่า ที่ผ่านมา รมว.ศธ. ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยมาโดยตลอด เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่นักเรียนถูกยิง 3 คน รมว.ศธ. ได้มีความห่วงใยจึงรีบลงมาดูว่าสาเหตุคืออะไร แล้วจะถอดบทเรียนนี้เพื่อใช้ในการป้องกันแก้ไขปัญหาให้นักเรียนได้อย่างไร ซึ่งพบว่า เหตุการณ์นี้เกิดจากปัจจัยภายนอกคือเรื่องของยาเสพติด และการเดินทางในช่วงเวลากลางคืนของนักเรียนที่อาจจะส่งผลให้เกิดเหตุร้ายได้ จึงถอดบทเรียนตรงนี้ได้ว่า เราจะร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นหรือหน่วยงานอื่น ๆ อย่างไร ในการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับนักเรียนคนอื่นอีก พร้อมเร่งดำเนินการช่วยเหลือครอบครัวนักเรียนที่เสียชีวิต โดยมอบหมายให้ ผอ.สพท. ประสานโรงเรียน ดูแลเรื่องทุนการศึกษาแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต ซึ่งมีพี่น้องที่ยังคงเรียนอยู่ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมองหาโรงเรียนที่จะสามารถแบ่งเบาภาระของครอบครัวนักเรียนได้
พร้อมกันนี้ก็ได้ลงไปตรวจเยี่ยมที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 37 ซึ่งโรงเรียนราชประชานุเคราะห์เกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ที่ว่า ทำอย่างไรให้เด็กด้อยโอกาสหรือเด็กยากจนได้รับโอกาสและมีความเท่าเทียมกันทางการศึกษา โดยได้ไปถอดบทเรียนว่า ทางโรงเรียนมีวิธีการในการออกแบบการบริหารจัดการอย่างไร ที่ทำให้นักเรียนลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งได้เห็นในเรื่องของมิติด้านโอกาส ที่โรงเรียนได้มอบโอกาสให้เด็กที่อยู่ในเขตบริการ ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาจนถึงชั้นมัธยมปลายได้มีโอกาสรับการศึกษาที่มีคุณภาพ รวมถึงเด็กนักเรียนที่เคยต้องโทษและได้โอกาสกลับเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเอง ส่วนในเรื่องการจัดการศึกษา โรงเรียนจะมุ่งไปที่เรื่องของทักษะชีวิตและทักษะอาชีพเป็นเรื่องใหญ่กว่าทักษะวิชาการ เพื่อตอบโจทย์ในเรื่องของการมีอาชีพมีงานทำ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการปรับสภาพแวดล้อม โรงเรียนเป็นโรงเรียนแห่งความสุข ทั้งในเรื่องของการออกแบบบ้านพัก อาหารกลางวัน และชีวิตความเป็นอยู่ของนักเรียนที่ดูแลกันแบบพี่กับน้อง มีความใกล้ชิดระหว่างนักเรียนกับครู และระหว่างครูกับผู้บริหาร ทำให้เป็นโรงเรียนแห่งความสุข
นายอัมพร กล่าวต่อไปว่า เมื่อได้เห็นภาพตรงนี้ หากเราสามารถทำให้ทุกโรงเรียนมีคุณภาพและมาตรฐานเดียวกัน นั่นหมายความว่าประเทศไทยจะลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างดี ตรงจุดนี้ รมว.ศธ. ได้มอบให้ สพฐ. ลงมาถอดบทเรียนเพื่อนำไปขยายผลให้กับโรงเรียนอื่นต่อไป ซึ่งตอนนี้ก็มีหลายโรงเรียนที่ทำในลักษณะนี้อยู่แล้ว สุดท้ายแล้วทิศทางที่เราอยากเห็นคือ เราไม่ต้องการให้นักเรียนนั่งเรียนอยู่ในห้องอย่างเดียว โดยในห้องเรียนจะเรียนแค่ทฤษฎีพื้นฐาน แล้วจากนั้นให้เด็กลงภาคสนามไปปฏิบัติ ซึ่งจะตอบโจทย์การเรียนการสอนที่เป็น Active Learning ได้อย่างแท้จริงเป็นรูปธรรม อีกทั้งตอบโจทย์เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสทางการศึกษา และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก ให้มีทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ เพื่อให้เด็กเป็นต้นแบบในการหลุดพ้นจากความยากจน นี่คือสิ่งที่ รมว.ศธ. ได้เน้นย้ำให้เกิดขึ้นโดยเร็ว
“ในเรื่องการสร้างทักษะชีวิตและอาชีพ ต่อไปการสร้างสะพานเชื่อมระหว่าง สพฐ. กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นอาชีวะศึกษา ต้องไม่มีพรมแดน ทั้งในเรื่องการทำ MOU หรือการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ก็จะเป็นมิติใหม่ของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพราะจริงๆ แล้วการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ได้อยู่ที่ สพฐ. อย่างเดียว แต่ไปถึงอาชีวะด้วย ในวันนี้ก็ได้คุยกับเลขาธิการ สอศ. ว่า หากสามารถเชื่อมโยงกันได้จริง ต่อไปเมื่อ สพฐ. เตรียมคนให้มีต้นทุนมนุษย์ที่เพียงพอในเรื่องการเรียนรู้ อาชีวะก็จะมาต่อยอดให้เขามีอาชีพมีงานทำมีรายได้ เพราะถ้าคนเราสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ แล้วบวกกับมีอาชีพมีงานทำมีรายได้ เขาก็จะเป็นประชากรที่มีคุณภาพ พร้อมพัฒนาประเทศต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
- ผอ.สวก.สพฐ. “วิษณุ” เปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปีและการประชุมทางวิชาการในหัวข้อ “การศึกษาไทยก้าวไกลสู่ทศวรรษหน้า” - 5 ตุลาคม 2024
- รมว.ศธ. พร้อม เลขาธิการ กพฐ. ร่วมงาน “ทิศทางการศึกษา เพื่อพัฒนาเด็กโคราช” จัดการเรียนรู้ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ด้วยนวัตกรรมจิตศึกษา PBL และ PLC - 5 ตุลาคม 2024
- รมว.ศธ. พร้อม เลขาธิการ กพฐ. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานตามนโยบาย ศธ. ณ โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม และโรงเรียนภัทรบพิตร จ.บุรีรัมย์ - 4 ตุลาคม 2024