สพป.มุกดาหาร จัดประชุมสภากาแฟ และรับชมรายการ “พุธเช้า ข่าว สพฐ.” ครั้งที่ ๓๓/๒๕๖๕
🕢 วันพุธที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๕ เวลา ๐๗.๓๐ น.
ณ ห้องประชุมสานฝันศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามุกดาหาร
นายวรรณสิทธิ์ คำเพราะ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามุกดาหาร นำคณะผู้บริหาร เข้าร่วมรับชมรายการพุธเช้า ข่าว สพฐ. เพื่อรับฟังข่าวสาร และประชุมสภากาแฟ เพื่อร่วมในการบริหารงานของสำนักงานเขตพื้นที่ฯ ให้มีประสิทธิภาพ และเป็นที่ยอมรับ ตามกรอบมาตรฐานของทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ดียิ่งขึ้น ต่อไป
โดยพุธเช้า ข่าว สพฐ. (เลขาธิการ กพฐ. พบเพื่อนครู) ในวันนี้ จัดรายการสัญจร อยู่ที่จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่ง นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้กล่าวชี้แจงนโยบาย ข้อราชการ และนำเสนอประเด็น ดังนี้
📍 ๑. มีวีรบุรุษและวีรสตรี
สัปดาห์ที่ผ่านมา ด.ช.ชยุต เลยชัยภูมิ และ น.ส.จิดาภา เปรมปรีดิ์ ซึ่งเป็นนักเรียนมัธยมศึกษา จ.อุดรธานี ประสบอุบัติเหตุไฟฟ้าดูด ในขณะเดียวกัน ก็มีวีรบุรุษและวีรสตรี คือ นายอรรถชัย อาจอุดม (น้องบาส) , นายปรัชญา ใจบุญ (น้องบอส) รวมไปถึง น.ส.สุภารัตน์ ภูเหมือนบุตร ซึ่งทั้ง ๓ คน เป็นฮีโร่ที่เข้ามาช่วยนักเรียนของเรานั้น ให้มีความปลอดภัย ตนเองในนาม สพฐ. ขอสดุดีเชิดชูเกียรติ ให้กับน้องทั้ง ๓ คน ที่มีจิตใจกล้าแกร่ง มีความสามารถ มีศักยภาพ ทำให้ชีวิตคนคนหนึ่งรอดพ้นจากการสูญเสียในครั้งนี้มาได้ และขอให้คุณงามความดี ที่น้องทั้ง ๓ คน ได้ร่วมกันทำในครั้งนี้ จงเป็นอานิสงส์ ให้น้องพบแต่ความสุขความเจริญ หากต้องการให้ สพฐ. ส่งเสริมหรือสนับสนุนสิ่งใด สพฐ. ยินดีที่จะร่วมสนับสนุนน้องทั้ง ๓ คน ไว้ ณ โอกาสนี้
📍 ๒. การประเมิน PA
สืบเนื่องจากห้วงเวลานี้ เพื่อนครูทั่วประเทศ กำลังมีการวิตกกังวล เรื่องการประเมิน PA โดยตนอยากสื่อสารว่า ในการประเมิน PA นั้น เนื่องจากการดำเนินงานเรามีบุคลากรที่เกี่ยวข้องอยู่ ๓ กลุ่มใหญ่ด้วยกัน ๑) คือผู้บริหารสถานศึกษา ๒) ศึกษานิเทศก์ ๓) ครู แต่เนื่องจากครูนั้น จะได้รับผลกระทบ ต่างจากกลุ่มอื่น อันเนื่องมาจากการเลื่อนวิทยฐานะนั้น มี ว๑๗ กับ ว๒๑ และครูนั้นมีผลบังคับใช้ทันที ใน ๑ ตุลาคม ๒๕๖๕ นี้ ซึ่งในช่วงนี้ มีหลายโรงเรียน คณะกรรมการหลายท่าน ได้ออกประเมินครู แต่การประเมินนั้นยังให้ทำในรูปแบบแฟ้ม มีเอกสารมากมาย สร้างผลกระทบ สร้างความไม่เข้าใจ ต่อครูทั่วประเทศ ตนจึงขอสื่อสารว่า ในขณะนี้ ผอ.เขต ผอ.โรงเรียน ท่านใด ได้ตั้งคณะกรรมการประเมินแล้ว หากจะชะลอการประเมิน ขณะนี้ สพฐ. กับ กคศ. โดยท่านรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ สพฐ. และ กคศ. ได้พูดคุย และได้ข้อสรุปว่า ในแต่ละเขตจะมีวิทยากรพี่เลี้ยง หรือ Staff ช่วยครู อยู่เขตละ ๑๐ คน เมื่อคัด ๑๐ คนนี้แล้ว กคศ. และ สพฐ. จะจัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจให้กับวิทยากรแกนนำทั้ง ๑๐ คน และวิทยากรจะนำไปถ่ายทอดไปยังครูแต่ละเขต ซึ่งครูจะมีพี่เลี้ยงในการประเมินครั้งนี้ รวมถึงกรณีที่ไม่มีไฟฟ้า เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะได้รับการคลี่คลายผ่านคณะกรรมการชุดนี้ และขอให้ครูทุกท่านไม่ต้องวิตกกังวล และทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่
📍 ๓. สะท้อนการดำเนินงาน โรงเรียนคุณภาพ จากผู้บริหารสถานศึกษา
ในโอกาสที่ตนมาร้อยเอ็ด จึงขอให้ผู้บริหารสถานศึกษาทั้ง ๒ ท่าน จากวันนั้นถึงวันนี้ ท่านได้บทเรียนอะไร และมีข้อเสนอแนะอะไรให้กับโรงเรียนที่จะเข้าโรงเรียนคุณภาพ หรือท่านทำอะไรประสบความสำเร็จเป็นที่น่าภาคภูมิใจ โดยใช้หลักการประเด็นสั้น ๆ โดยเริ่มจาก
๑) นายวัชระ ป้านภูมิ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านมะอึ
ใช้แนวคิด Active Learning ซึ่งมีรูปแบบที่เด่นชัดคือการสร้างโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ สู่การพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน สร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) ใช้แนวคิด Lesson Study (Plan Do See) ใช้ System theory หรือทฤษฎีระบบ (Input Process Output Feedback) ใช้ MERS Model ประกอบด้วย
M : Method วิธีการจัดการเรียนการสอน
ไม่มีวิธีการจัดการเรียนการสอนใดดีที่สุด แต่วิธีใดเหมาะกับนักเรียนมากที่สุด ดังนั้นจึงใช้แนวทาง Active Learning และมี ๔ องค์ประกอบ คือ ๑) Interactive การปฏิสัมพันธ์ระหว่างการจัดกิจกรรม ๒) Higher Order Thinking การใช้คำถามขั้นสูง (ทำไม อย่างไร เพราะอะไร) หากถามแค่ใช่หรือไม่ เด็กจะตอบได้แค่ใช่กับไม่ใช่ จะไม่รู้แนวคิดของนักเรียน ๓) Action คือการเรียนรู้จากการปฏิบัติ ได้เรียนรู้จากโลกจริงสู่โลกของกลุ่มสาระ ๔) Construction เด็กจะได้สร้างองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นในแต่ละแผนการจัดการเรียนรู้
E : Empowerment บุคลากรนั้นสำคัญยิ่ง
put the right man on the right job ต้องใช้คนให้ถูกกับงาน ใครถนัดงานใดให้ทำหน้าที่ในงานนั้นโดยเป็นผู้นำ โดยมีคนส่งเสริมสนับสนุน ในขณะเดียวกันเมื่อมีการเปลี่ยนงาน ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำและผู้สนับสนุนตามมา และการเสริมแรงโดยครอบครัวมะอึ และ Unity ความเป็นเอกภาพ ในโรงเรียนมีมากมายหลายความคิด แต่จะตกผลึกให้เป็นแนวคิดเดียว ทั้งหมดจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับคณะครูในเรื่องการสร้างและพัฒนาคุณภาพของนักเรียน
R : Research Base กระบวนการวิจัย นำไปใช้ในการแก้ปัญหา
S : Super Reach การนิเทศติดตาม
สุดท้าย นำมาซึ่งความพึงพอใจของผู้ปกครอง ผู้ปกครองส่งบุตรหลานมาเรียนมากขึ้น
๒) นายประสิทธิ์ เศษวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลเมืองศรีสมเด็จ(พิมพ์คุรุราษฎร์บำรุง)
เป็นโรงเรียนคุณภาพในสังกัด สพป.ร้อยเอ็ด เขต ๑ ได้ใช้แนวคิดโรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ (School as Learning Community) เป็นแนวคิดหลัก เพื่อให้โรงเรียนของเราสามารถดูแลนักเรียนได้ทุกคน และ No child left behind คือหัวใจสำคัญของการจัดการศึกษา โดยครูทำงานร่วมกัน ส่งผลให้นักเรียนมีสมรรถนะที่ดีขึ้น เป็นผู้สร้างนวัตกรรม และในส่วนของบริบทที่ปลอดภัย ผู้ปกครองเชื่อมั่น ความปลอดภัยตั้งแต่การเดินทาง มีรถรับส่งได้มาตรฐาน พื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน เชื่อมั่นว่าเรื่องความปลอดภัย คุณภาพผู้เรียน และการสร้างโอกาสที่ครอบคลุมเด็กในพื้นที่อย่างแท้จริง จะเป็นเรื่องหลักที่โรงเรียนคุณภาพจะต้องดูแลและทำให้ปรากฏผล
สุดท้ายนี้ นายอัมพร พินะสา ได้สรุปจากการรับฟังทั้ง ๒ โรงเรียนว่า แต่ละโรงเรียนนั้นมีบริบท มีวิธีการดำเนินการที่แตกต่างกัน สอดคล้องกับสิ่งที่ตนเสนอมาโดยตลอดว่า “การจัดการศึกษาที่แท้จริงนั้น จะไม่ตัดเสื้อตัวเดียวใส่ด้วยกันทั้งประเทศ จะใช้พื้นที่เป็นฐาน นวัตกรรมขับเคลื่อน” ดังนั้น แต่ละแห่งก็อาศัยการขับเคลื่อนตามบริบท โดยมีเป้าหมายที่ตรงกันคือ “คุณภาพผู้เรียน”
พุธเช้า ข่าวสพฐ. ออกอากาศทุกวันพุธ เวลา ๐๘.๐๐ – ๐๙.๐๐ น. ผ่านช่องทาง OBEC Channel โดยนำเสนอกิจกรรมตามนโยบายของเลขาธิการ กพฐ. และนโยบายเร่งด่วน
📸 ดูภาพข่าวเพิ่มเติมได้ที่ :
https://photos.app.goo.gl/jS8bZveyZeQ2N2no9
- สพป.มุกดาหาร ประชุมเชิงปฏิบัติการ การจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและแผนปฏิบัติการประจำปี ของสถานศึกษา - 5 กันยายน 2024
- สพป.มุกดาหาร ลงพื้นที่ติดตาม เตรียมการป้องกันอุทกภัย สถานศึกษาที่ติดริมฝั่งแม่น้ำโขง - 3 กันยายน 2024
- น้องแซมมี่ คว้าผลงานระดับโลก ชนะเลิศการประกวดวาดภาพระบายสี “2025 COLGATE MY BRIGHT SMILETM GLOBAL ART CONTEST” - 8 สิงหาคม 2024