วันที่ 21 กันยายน 2565 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมพิธีเปิดกิจกรรม Kick off ทางม้าลายปลอดภัย วินัยดี “หยุดก่อนทางม้าลาย” ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร โดย สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (สผ.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพมหานคร และเครือข่ายทางม้าลายปลอดภัย วินัยดี จัดกิจกรรมทางม้าลายปลอดภัย วินัยดี “หยุด ก่อนทางม้าลาย” โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา ประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมและเน้นการสนับสนุนขับเคลื่อนให้เกิดทางม้าลายปลอดภัยในครั้งนี้
นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า จากสถิติการรับเรื่องร้องเรียนที่ผ่านมา พบกว่า 500 เรื่อง เป็นปัญหาเกี่ยวกับงานจราจรและในจำนวนนี้มากถึง 300 – 400 คน ต่อปี ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุการข้ามถนน ยิ่งไปกว่านั้น จากข้อมูลการสำรวจการหยุดรถที่ทางม้าลาย พบว่าผู้ขับขี่รถเกือบร้อยละ 90 ไม่หยุดรถตรงทางม้าลาย โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์มีสถิติสูงสุด จึงเล็งเห็นว่าทุกภาคส่วนต้องเร่งร่วมมือกันรณรงค์ แก้ไขปัญหาดังกล่าวจากต้นเหตุให้ครอบคลุมทุกมิติอย่างจริงจังจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 หยิบยกกรณีปัญหาอุบัติเหตุจากการใช้ทางข้าม (ทางม้าลาย) แก้ไขในเชิงระบบ ใน 3 ด้านหลัก คือ 1. ด้านการแก้ไขกฎหมาย 2 ด้านการปรับปรุงทางกายภาพ 3. ด้านการรณรงค์สร้างจิตสำนึกและการสร้างเครือข่าย นายทรงศึก กล่าวต่อว่า ในด้านการรณรงค์ฯ นั้น สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ร่วมกับ สสส. ในการบูรณาการทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน ขับเคลื่อนการทำงาน และ รณรงค์ “ทางม้าลายปลอดภัย วินัยดี” เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาเชิงระบบเกี่ยวกับความปลอดภัยในการข้ามถนนโดยใช้ทางม้าลายอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับด้านการแก้ไขกฎหมาย จะเสนอแนะให้เพิ่มเติมกฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ที่ควรกำหนดให้ผู้ขับขี่หยุดรถให้คนข้ามถนนบริเวณทางม้าลายเป็นการเฉพาะ เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายยังไม่มีการบัญญัติโทษไว้เป็นการเฉพาะรวมถึงกำหนดกฎหมายเพิ่มบทลงโทษกับคนที่ฝ่าฝืน อาทิ กำหนดโทษให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่กับบุคคลที่ขับรถชนคนเดินข้ามถนนในทางม้าลาย กำหนดอัตราโทษให้สูงขึ้นกรณีขับรถชนคนข้ามถนนบนทางม้าลาย ร่างข้อกำหนดว่าด้วยการกำหนดความเร็วในเขตชุมชน เช่น ไม่เกิน 30 กม./ชม.ในด้านกายภาพ จะมีการปรับพื้นที่ถนน อาทิ ติดตั้งป้ายเตือนทางข้ามไว้ล่วงหน้าก่อนถึงทางม้าลาย ติดตั้งไฟแสงสว่างให้เพียงพอ และมี
สัญญาณไฟกระพริบเตือน จัดให้มีเส้นชะลอความเร็วก่อนถึงทางม้าลาย โดยในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหานี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเป็นองค์กรกลางสนับสนุนทุกหน่วยงานในการทำงานเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม ตั้งเป้าในอีก 1 ปีข้างหน้า ทางม้าลายทุกทางรถจะต้องหยุดให้คนเดินข้าม ซึ่งจะติดตามประเมินผลทางสถิติอย่างต่อเนื่องทุก 2-3 เดือน เพื่อดูว่าอุบัติเหตุหรือผู้ฝ่าฝืนกฎหมายนั้นลดลงหรือไม่อย่างไร
ดร.สุปรีดา กล่าวว่า สสส. ยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เล็งเห็นความสำคัญและเข้ามามีส่วนร่วมในการบูรณาการการทำงาน สร้างความปลอดภัยบนทางม้าลายที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ที่ผ่านมา สสส. และภาคีเครือข่าย ได้ขับเคลื่อน และรณรงค์ความปลอดภัยทางถนนเพื่อลดอุบัติเหตุมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายผลักดันสิทธิทางม้าลายให้คนเดินเท้า ได้เดินข้ามทางม้าลายอย่างปลอดภัย สนับสนุนการทำงานในการลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนบนทางม้าลาย ทั้งการสื่อสารรณรงค์ ให้ความรู้ สนับสนุนการปฏิบัติการในพื้นที่มุ่งสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้กับทั้งผู้ขับขี่ที่ควรหยุดรถให้คนข้ามถนนที่ทางข้าม ส่วนคนเดินเท้าควรข้ามถนนที่ทางข้าม และระมัดระวังให้มากขึ้น ขอเน้นย้ำถึงการใช้ความเร็วที่ปลอดภัยในเขตชุมชน ไม่เกิน 30 กม./ชั่วโมง โดยเฉพาะหน้าโรงเรียน โรงพยาบาลชุมชน ตลาด และฝากถึงผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในบ้านเราที่มากกว่า 20 ล้านคัน ให้ป้องกันตนเอง โดยการสวมหมวกนิรภัยตลอดการเดินทาง ช่วยลดการเสียชีวิตได้มากกว่า 50% เพื่อร่วมทำให้เกิดความปลอดภัยบนท้องถนนต่อไป
ด้าน นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจาก นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมกิจกรรมวันนี้ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการในฐานะภาคีเครือข่าย มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ โดยจะเดินหน้าสร้างการรับรู้ และขับเคลื่อนผ่านระบบการจัดการศึกษา เช่น การปรับหรือแก้ไขระเบียบที่เป็นอุปสรรค การปรับกายภาพให้สอดรับกับความเป็นจริง ตลอดจนการสร้างจิตสำนึกและวัฒนธรรม ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะนำเข้าสู่กระบวนการจัดการเรียนรู้ กระบวนการฝึกฝนและถ่ายทอด รวมไปถึงการสร้างสำนึกและนำไปใช้ได้จริง เนื่องมาจากโรงเรียนก็ได้รับผลกระทบจากการใช้ทางม้าลายอยู่เป็นประจำ อีกทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการก็มีนโยบายด้านความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญซึ่งมีความสอดรับกับกิจกรรมวันนี้ด้วย ดังนั้นหากได้รับความร่วมมือจากทุกท่านก็จะเป็นการสร้างจิตสำนึกให้กับคนไทยใช้ทางม้าลายอย่างถูกต้อง ทำให้เกิดความปลอดภัย และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
ในวันเดียวกันนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ Kick off ทางม้าลายปลอดภัย วินัยดี คู่ขนาน อีก 8 จุดทั่วกรุงเทพ คือ บริเวณทางข้ามทางม้าลายหน้าครุสภา เขตดุสิต ทางเข้าวัดราชาธิวาสวิหาร เขตดุสิตหน้าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เขตพระนคร หน้าวัดบวรนิเวศ เขตพระนคร หน้าโรงเรียนสันติราษฎร์เขตราชเทวี หน้าสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ เขตราชเทวี เขตสวนหลวง และบริเวณแยกวชิรธรรมสาธิต เขตพระโขนง รวมถึงหน่วยงานและภาคีเครือข่ายในทุกจังหวัดทั่วประเทศ
- แผนปฏิบัติการป้องกันการทุจริต สพฐ. ประจำงบระมาณ พ.ศ. 2568 - 24 กันยายน 2024
- การคัดเลือกนักเรียนและสถานศึกษา เพื่อรับรางวัลพระราชทาน ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานประจำปีการศึกษา 2567 - 29 สิงหาคม 2024
- ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการบริหารกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ - 30 กรกฎาคม 2024