วันที่ 21 กันยายน 2565 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และชมนิทรรศการ การจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์แบบมีชีวิต จากโรงเรียนต้นแบบ 4 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี ผอ.สพป.อยุธยา เขต 1 รอง ผอ.สพม.อยุธยา ผู้บริหารโรงเรียน ในสังกัด สพม.อยุธยา ผู้บริหาร คณะครู และนักเรียน โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ประธานกรรมการสถานศึกษา โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย และคณะทำงาน ONE TEAM สพฐ.(สวก. สบว. สทศ. สบน. ศนฐ.) ร่วมงาน ณ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย พร้อมทั้งถ่ายทอดสดผ่าน OBEC Channel ไปยังผู้ชมทั่วประเทศ
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่พวกเราทุกคนได้ดำเนินการในวันนี้ คือ การได้เริ่มต้นสานต่อในสิ่งที่บรรพชนได้ทิ้งไว้ให้ นั่นก็คือ ขุมทรัพย์ทางปัญญา ซึ่งทรงคุณค่าที่มีเฉพาะของคนไทย โดยหน้าที่ของเราชาว สพฐ. คือ การบ่มเพาะให้นักเรียนทุกคน รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณลักษณะอันพึงประสงค์ข้อแรกที่ต้องตระหนัก สร้าง และพาทำให้เกิดให้ได้กับนักเรียนทุกคน ซึ่งนักเรียนโรงเรียนนี้ต่างรู้รากเหง้าของตนเองอย่างดีเยี่ยม โดยเล่าเรื่องราวในอดีตอย่างเข้าใจเสมือนตัวเองอยู่ในยุคสมัยนั้น แสดงให้เห็นว่าการจัดกระบวนการเรียนการสอนของโรงเรียนมุ่งเน้นให้นักเรียนเข้าใจ ภูมิใจ เกิดการปรับ ประยุกต์ ถ่ายทอดและสร้างสรรค์ในสิ่งที่บรรพชนได้ทิ้งไว้ให้คือมรดกทางปัญญา ก็ได้นำมาปรับประยุกต์ใช้ในปัจจุบันและต่อยอดไปสู่อนาคต ทั้งนี้ สิ่งที่สังคมต้องการและคาดหวังจากเรา คือ ต้องการให้เด็กไทยรักความเป็นไทย รู้จักรากเหง้าของตนเอง รับรู้ถึงความเสียสละของบรรพชน หวงแหนแผ่นดินไทย ดังนั้น ประโยชน์ที่เราจะได้รับจากการรู้จักรากเหง้าของตนเองเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะดึงดูดสิ่งดีๆ ที่จะเกิดขึ้นกับบ้านเมืองของเรา เพื่อให้เป็นจุดเริ่มต้น เป็นประตูบานแรกที่จะให้เราได้ร่วมมือ เกิดความสามัคคีกัน และสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับเด็กไทย
นางเกศทิพย์ กล่าวต่อไปว่า การขับเคลื่อนในวันนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการรวมพลัง เป็นสัญลักษณ์ที่ชี้ให้เห็นว่าเรากำลังร่วมกันทำ เพื่อให้ทุกคนรู้ว่ารากเหง้าของเราคือสิ่งที่ต้องหวงแหนไว้ และแสดงให้ทั่วโลกได้เห็นถึงความสง่างาม โดยสิ่งที่สำคัญมิใช่แค่การแต่งตัวย้อนยุค แต่สิ่งที่เรากำลังดำเนินการต่อไปคือ การปรับการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กนักเรียนทุกคน ได้เข้าถึงประวัติศาสตร์อย่างสร้างสรรค์ ดึง soft power ต่างๆ มาปรับกระบวนการเพื่อให้เด็กของเราได้เข้าถึงประวัติศาสตร์แบบ inquiry มิใช่ท่องจำอย่างเดียว แต่เป็นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ แบบคิด วิเคราะห์ ภายใต้รูปแบบ active learning จนนำไปสู่การคิด แสวงหาความรู้ ความภูมิใจ และรู้สึกโชคดีที่เราได้เกิดมาเป็นคนไทย มีมรดกตกทอดจากบรรพชน มีอารยธรรม มีวัฒนธรรมประเพณีเป็นเอกลักษณ์ของคนไทยที่ชาติอื่นไม่มี พวกเราทุกคนคือพลังขับเคลื่อนที่สำคัญ เป็นกลไกที่จะทำให้นักเรียนของเรา ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถรู้จักรากเหง้าของตนเองได้ และภาคภูมิใจในความเป็นไทย จากการปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ที่พวกเราได้ร่วมกับ โรงเรียน เขตพื้นที่ และเริ่มไปพร้อมๆ กัน ในทุกภาคส่วนของประเทศไทย เพราะทุกพื้นที่ล้วนมีอารยธรรม ภูมิปัญญา ขนบธรรมเนียมประเพณีของตนเอง เราจึงต้องใช้จุดนี้เป็นตัวเชื่อมโยง ดำเนินการ สู่การเรียนรู้ ส่วนการสร้างความภาคภูมิใจ เราต้องเชื่อมไปสู่การเรียนรู้ของโรงเรียนที่บ่มเพาะนักเรียนให้มีทัศนคติที่ดีและถูกต้องต่อบ้านเมืองด้วย
“สิ่งที่ชื่นชมก็คือ นักเรียนที่นำเสนอทุกคนเก่ง รู้จริงเรื่องประวัติศาสตร์ และมีความภาคภูมิใจที่ได้อยู่ จ.อยุธยา คุณครูก็เก่งในการจัดหน่วยบูรณาการได้อย่างลงตัว มีการบูรณาการการสอน โดยครูวิชาภาษาไทยสอนเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์ ทำให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ทั้งสองวิชาไปพร้อมๆ กัน รวมทั้งดึงเทคโนโลยีและวัด ชุมชน วิถีชีวิต มาจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ได้อย่างชัดเจน ทางด้านผู้บริหารโรงเรียนก็ให้การสนับสนุน รวมทั้งเขตพื้นที่ก็ใส่ใจในการพาคิด พาทำร่วมกัน โดยมีการสร้างเครือข่ายสนับสนุนกันอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ สิ่งที่จะดำเนินการต่อไป คือ การพัฒนาครูผู้สอนด้านการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ด้วยวิธีการที่หลากหลาย ประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถอดบทเรียนแนวปฏิบัติที่เป็นตัวอย่างได้ รวมทั้งส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนด้วยวิธีการที่หลากหลาย ทั้งในระดับเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา ประกอบด้วย การใช้แหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีเป็นสื่อ การเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการพัฒนาโรงเรียนต้นแบบการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ โดยมีนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่เป็นตัวอย่างได้ สอดคล้องกับนโยบายของ รมว.ศธ. และเลขาธิการ กพฐ. ที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชนที่แตกต่างกันไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
- สพฐ. ร่วมมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์อีดี และพันธมิตรองค์กรภาคเอกชน ผนึกกำลังภาครัฐและภาคเอกชนขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม - 15 ตุลาคม 2024
- เลขาธิการ กพฐ. “ธนุ” เข้าเฝ้าฯ ตามหมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล วันนวมินทรมหาราช พุทธศักราช 2567 - 13 ตุลาคม 2024
- รมว.ศธ. ลงพื้นที่ตรวจราชการออกเยี่ยมโรงเรียน และติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลด้านการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ในพื้นที่อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี - 8 ตุลาคม 2024