สพฐ. ดึงพลังครูรุ่นใหม่ สพป.กทม. พัฒนาตนเอง สร้างเด็กดี มีคุณภาพ ตามเป้าหมายหลักสูตรชาติ

วันที่ 24 กันยายน 2565 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ “การจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) สู่สมรรถนะของครูผู้สอนศตวรรษที่ 21” ให้ข้าราชการครู ตำแหน่งครูผู้ช่วย จากโรงเรียนในสังกัด สพป.กทม. จำนวน 97 คน มีผู้บริหารการศึกษา และผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัดเขตพื้นที่ รวมทั้งหมด 120 คน ร่วมฟังการบรรยาย ณ หอประชุมท่านผู้หญิงละเอียด โรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live เพจ พัฒนาครู สพป.กทม.

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า คุณครูรุ่นใหม่ถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษา ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดคุณภาพกับนักเรียนเพราะต้องสั่งสอนนักเรียนอีกมากมายไม่รู้อีกกี่รุ่นต่อกี่รุ่น จึงต้องเป็นต้นแบบและแบบอย่างได้ อีกทั้ง “ครู” ได้รับเกียรติและยกย่องว่าเป็นผู้ประกอบวิชาชีพชั้นสูง จึงต้องปฏิบัติตนให้สมกับที่ได้รับการยกย่อง ด้วยการสร้างคุณภาพ ความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครอง ชุมชน โดยการดูแลบุตรหลานของชุมชนอย่างรอบด้านครบทุกมิติ ทั้งในด้านคุณภาพวิชาการ ด้านคุณธรรม เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นข้อพิสูจน์ที่สร้างความเชื่อมั่น และความศรัทธาให้กับสังคมได้อย่างแท้จริง นอกจากนั้น การจัดการเรียนรู้ของคุณครูทุกคน แบบครบมิติ ผู้บริหารต้องมีหน้าที่สร้างการขับเคลื่อน หนุนเสริม เติมต่อ เป็นผู้นำพาทำ สร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเรียนรู้จะให้ผลเป็นรูปธรรมเกิดกับนักเรียน

ในส่วนของการปรับกระบวนการสอน ให้หารูปแบบการจัดการเรียนรู้ร่วมกันที่จะก่อให้เกิด 3 เรื่องที่สำคัญ คือ มาตรฐาน/ตัวชี้วัด คุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 ประการ และสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน 5 ด้าน ซึ่งต้องเกิดกับนักเรียนทุกคน และถือเป็นหน้าที่ของครูและผู้บริหารในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามหลักสูตรชาติ พร้อมทั้งปรับรูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับยุคสมัย อย่ายึดติดตำรา ให้ความสำคัญกับเป้าหมาย และสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนเป็นหลัก โดยการใช้กระบวนการ plc แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนครู เพื่อหาวิธีการหรือรูปแบบในการจัดการเรียนรู้เพื่อผู้เรียนเป็นรายบุคคลได้รับการเติมเต็มศักยภาพตามความถนัดและสนใจ นอกจากนั้น ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลและช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ของเด็กนักเรียนอย่างใกล้ชิด ผ่านระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่เข้มแข็ง โดยแสวงหาความรู้เพิ่มเติมจากเครือข่ายต่างๆ เพื่อส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด สอดคล้องกับนโยบายของ รมว.ศธ. และเลขาธิการ กพฐ. ที่ต้องการให้การศึกษายกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยได้อย่างแท้จริง

นางเกศทิพย์ กล่าวต่อไปว่า การมีทัศนคติที่ดีต่อองค์กร ทำงานอย่างเต็มศักยภาพเพื่อองค์กรของเรา เพื่อเป้าหมายเดียวกันคือการพัฒนาการศึกษา จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่มีพลังไปพร้อมกัน และคุณภาพจะเกิดขึ้นทั้งประเทศทุกที่พร้อมๆ กัน จะสามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยโอกาส ขึ้นอยู่กับการคิดใหม่ ทำใหม่ ให้แตกต่าง และสิ่งสำคัญคือ “การคิดบวก บนพื้นฐานของความเป็นจริง และมีทัศนคติที่ดี จะดึงดูดให้ทำแต่สิ่งดี ไม่มีเวลาคิดสิ่งที่ไม่ดี จะทำให้เกิดคุณค่าต่อตนเอง และภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองทำ” ดังนั้น เราต้องช่วยกันสร้างความภาคภูมิใจในองค์กร มีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพ  และสร้างศรัทธาให้เกิดกับวิชาชีพและความเป็นครู ซึ่งไม่ใช่จะเกิดขึ้นจากสิ่งที่เราพูดเอง แต่มาจากคนอื่นที่มองและพูดถึงเรา ด้วยการปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม สมกับความเป็นครู

“อีกเรื่องที่สำคัญคือการส่งเสริมให้นักเรียนของเรา ภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ชาติไทย เห็นคุณค่าใน ศิลปะ วัฒนธรรม ความเป็นไทย ซึ่งในสายตาของชาวโลกมองสิ่งเหล่านี้ว่ามีคุณค่ามหาศาล และเราโชคดีที่เกิดมามีรากเหง้าที่ทิ้งมรดกหรือขุมทรัพย์ทางปัญญาให้มากมาย มีอารยะที่เป็นตัวตนของชาติตนเอง ที่ไม่มีชาติใดมีแบบชาติเรา ซึ่งเด็กยุคใหม่มีความอดทนมากกับสิ่งที่เขาชอบ เราจึงต้องค้นหาและเปิดประตูให้นักเรียนได้เดินมาสู่สิ่งที่ชื่นชอบและสนใจ แล้วการเรียนรู้จะเกิดขึ้นอย่างมีความสุขและประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม นักเรียนจะสนุกกับการเรียนรู้และภาคภูมิใจในผลงานของตนเอง สุดท้ายนี้ สิ่งที่ขอชื่นชมก็คือ ผู้บริหารเขตพื้นที่ ที่เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนา “ครูผู้ช่วย” ให้มีคุณภาพ และเป็นแบบอย่างที่ดี ร่วมรับฟังตลอดการบรรยาย พร้อมยังติดตามการนำสู่ห้องเรียนเพื่อให้ผลไปถึงผู้เรียนทุกคน อีกทั้งผู้เข้าร่วมรับฟังการบรรยาย ก็ให้ความสนใจ ตั้งใจเป็นอย่างดี ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่ครูรุ่นใหม่ของเราจะได้นำความรู้ไปพัฒนาการจัดการเรียนการสอนและแบ่งปันความรู้ที่ได้รับกับครูคนอื่นๆ ในโรงเรียนของตนเองต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ทางด้าน นายพิเชฐร์ วันทอง ผอ.สพป.กทม. กล่าวว่า การพัฒนาครูผู้ช่วยครั้งนี้ มีเป้าหมายหลัก คือ การสร้างจิตวิญญาณความเป็นครู เติมเต็มสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ คุณธรรม จริยธรรม การสร้างวินัยทางการเงิน สิทธิและสวัสดิการ และระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้กับครูรุ่นใหม่ เพื่อให้ทุกคนมีความพร้อมขับเคลื่อนคุณภาพนักเรียน และคุณภาพการศึกษาไปด้วยกัน โดยหลังจากผ่านการฝึกอบรมในครั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เข้ารับการอบรมจะได้นำความรู้ ความสามารถ หรือประสบการณ์ดีๆ ที่ได้จากการฝึกอบรม นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ต่อโรงเรียน ต่อองค์กร และพัฒนาวิชาชีพครูให้เป็นมาตรฐานเดียวกันต่อไป