สพฐ. แจ้งเตือนสถานศึกษา เฝ้าระวังพายุ “โนรู”

วันที่ 29 กันยายน 2565 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ส่งหนังสือแจ้งเตือนสถานการณ์พายุ “โนรู” ถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั่วประเทศ สืบเนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยา ได้รายงานและแจ้งเตือนสถานการณ์สาธารณภัยในหลายพื้นที่ ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อสถานศึกษา และเป็นอันตรายต่อนักเรียน ครู และบุคลากรในสังกัด โดย สพฐ. มีความห่วงใยในสถานการณ์ดังกล่าว จึงขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากำชับสถานศึกษาในสังกัด เฝ้าระวังและปฏิบัติตามคู่มือการดำเนินงานความปลอดภัยสถานศึกษาและแนวทางปฏิบัติและมาตรการรักษาความปลอดภัยของสถานศึกษา ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2556 เพื่อความปลอดภัยของนักเรียน ครู และบุคลากรในสังกัด และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินทางราชการ ซึ่งหากมีสถานศึกษาในสังกัดได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติดังกล่าว ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รายงานความเสียหายตามแบบรายงานสรุปข้อมูลความเสียหายที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย ดินถล่ม ให้เป็นปัจจุบันและทันต่อเหตุการณ์อยู่เสมอ

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดของสถานศึกษาและนักเรียนในสังกัด สพฐ. ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย พบว่ามี 120 เขตพื้นที่การศึกษา และ 374 โรงเรียน ที่ได้รับผลกระทบ แบ่งเป็น สพป. 88 เขต จำนวน 285 โรงเรียน และ สพม. 32 เขต จำนวน 89 โรงเรียน รวมนักเรียน ครู และบุคลากร ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งหมด 8,090 คน ในจำนวนนี้มีโรงเรียนที่ไม่สามารถเปิดเรียนได้ตามปกติ 4 โรงเรียน เป็นโรงเรียนในสังกัด สพป. 3 โรงเรียน และ สพม. 1 โรงเรียน (ข้อมูลวันที่ 29 กันยายน 2565)  

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา มีประกาศเรื่องพายุ “โนรู” ฉบับที่ 12 (259/2565) เมื่อเวลา 14.00 น. ของวันที่ 28 กันยายน 2565 ว่า พายุไต้ฝุ่น “โนรู” ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามแล้ว โดยมีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 70 กิโลเมตรทางตะวันออกของแขวงเซกอง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประซาชนลาว เคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน และเคลื่อนผ่านสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวตอนล่าง ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของประเทศไทยบริเวณจังหวัดอำนาจเจริญและอุบลราชธานี ในวันที่ 29 กันยายน 2565 โดยพายุนี้จะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ส่งผลทำให้มีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมากบางแห่งกับมีลมแรงบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก รวมถึงอันตรายจากคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่งด้วย