วันที่ 30 กันยายน 2565 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดและบรรยายพิเศษการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) สู่การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ร่วมกับคณะทำงาน One Team สพฐ. (สวก. สบว. สทศ. สบน. ศนฐ.) โดยมีผู้บริหารเขตพื้นที่ ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ หัวหน้าวิชาการและตัวแทนครูจากโรงเรียนในสังกัด สพม.ประจวบคีรีขันธ์ และสังกัด สช. จำนวน 6 โรงเรียน และศึกษานิเทศก์ สพป.ประจวบคีรีขันธ์ เขต 2 รวมทั้งหมดกว่า 400 คน ร่วมรับฟังการบรรยาย ณ โรงแรม Golden Sea Hua Hin และถ่ายทอดสด ผ่าน Facebook Live สพม.ประจวบคีรีขันธ์
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า การจัดอบรมเพื่อพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ให้แก่ครูทั่วประเทศได้ดำเนินมาจนครบ 100% แล้ว โดยมีจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นแห่งสุดท้ายของ One Team สพฐ. จากการดำเนินการ พบว่า มีความยินดีที่เห็นครูทั่วประเทศให้ความสนใจและตั้งใจเข้าร่วมอบรมอย่างเต็มที่ และนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาการสอนของตัวเอง ซึ่งตรงกับความมุ่งหวังของ สพฐ. ที่ต้องการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยเฉพาะการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียน แหล่งเรียนรู้ใกล้โรงเรียน โดยมีกระบวนการผ่านทางครูผู้สอน ขับเคลี่อนกำกับโดยผู้บริหารสถานศึกษา ด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบ AL มาเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก นอกจากนี้ยังมีเขตพื้นที่เป็นพี่เลี้ยงพานำทาง ศน.ร่วมขับเคลื่อน สนับสนุนแก้ปัญหา และ ผอ. หนุนเสริมตามคำสังคณะกรรมการขับเคลื่อน นำร่องเพื่อเป็นตัวอย่างและขยายผล รวมทั้งร่วมกันค้นหาตัวอย่างต้นแบบโรงเรียนที่ดำเนินการแล้ว มาแบ่งปันให้โรงเรียนอื่นๆ เพื่อให้นักเรียนมีคุณภาพครบรอบด้าน ทั้งมาตรฐานตัวชี้วัด สมรรถนะผู้เรียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เพื่อเติมเต็มในทุกองค์ประกอบ เรียนอย่างมีความสุข เล่นแบบมีเนื้อหาและแทรกด้วยการคิดและปฏิบัติจริง สอนผ่านกิจกรรมแบบมีการวางแผนผ่านแผนการสอน เก็บเด็กครบทุกคนผ่านบันทึกหลังสอน และ PLC เพื่อให้เด็กนักเรียนได้พัฒนาและมีศักยภาพในตัวเองตามความชอบและความถนัด สอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และเลขาธิการ กพฐ. ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้เด็กได้เรียนอย่างสนุก ได้คิด ได้ทำ นำไปประยุกต์ใช้ได้ จนเกิดเป็นสมรรถนะในที่สุด และได้ถูกบ่มเพาะคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้วย
ดังนั้น การจัดการเรียนการสอนต้องคำนึงไว้ว่า ไม่ใช่แค่ให้ความสำคัญด้านวิชาการเท่านั้น แต่ต้องให้ความสำคัญกับทักษะชีวิต เพื่อให้เกิด Multi-skills และอบรมบ่มนิสัยด้านศีลธรรม คุณธรรม เพื่อให้เกิดสำนึกรับผิดชอบ และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เพราะสังคมในปัจจุบันนี้ต้องการคนดีที่ถูกบ่มเพาะด้วยคุณลักษณะ แล้วจึงเติมคนเก่งด้วยมาตรฐาน/ตัวชี้วัด และสมรรถนะ โดยต้องสร้างโอกาส สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่หลากหลาย ซึ่งเป็นบทเรียนที่สำคัญให้กับนักเรียน เพราะเมื่อนักเรียนได้มีโอกาสเจอปัญหาหรือประสบการณ์บ่อยๆ จะทำให้นักเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ เกิดทักษะการคิด การแก้ปัญหา เมื่อเด็กได้คิดซ้ำๆ แก้ปัญหาบ่อยๆ ก็จะทำให้เด็กได้เกิดทักษะการคิดที่เป็นระบบ โดยครูนำกระบวนการเรียนรู้แบบ AL มาปรับประยุกต์ใช้ และครูต้องเสริมทักษะต่างๆ ในการใช้ชีวิตให้กับนักเรียนเพื่อที่จะสามารถเชื่อมโยงและหลอมรวมองค์ความรู้ นำไปสู่การปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนั้น การใช้แหล่งเรียนรู้นอกโรงเรียน หรือในชุมชน จะต้องมีการบูรณาการตัวชี้วัดของกลุ่มสาระวิชา ว่ามีตัวชี้วัดอะไรบ้างในแหล่งเรียนรู้นั้น ๆ มีการวัดผลประเมินผลด้วยผลงานหรือชิ้นงานที่ชัดเจน โดยในหนึ่งชิ้นงานสามารถวัดผลได้มากกว่า 1 วิชา หลากหลายตัวชี้วัด เพื่อให้นักเรียนได้ลดเวลาในการเรียนที่มีตัวชี้วัดซ้ำซ้อน และมีเวลาทำกิจกรรมในสิ่งที่ชอบ สิ่งที่ถนัด ทางด้านผู้บริหารโรงเรียนก็ต้องศึกษาให้เข้าใจ เพื่อสื่อสารทำความเข้าใจกับครูในการปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ลงสู่การปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมการเรียนการสอนซึ่งจะสร้างความสุขให้เกิดขึ้นกับทั้งครูและนักเรียน เพราะการใช้แหล่งเรียนรู้ต้องมีค่า มากกว่าการไปทัศนศึกษาอย่างเดียว
นางเกศทิพย์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของทักษะพื้นฐาน ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ สิ่งที่น่าสนใจ คือ จัดกิจกรรมที่จำลองหน่วยของการดำเนินชีวิตของนักเรียน ที่เมื่อออกจากโรงเรียนแล้ว ทำให้นักเรียนสามารถนำมาใช้ พัฒนาต่อยอดแล้วนำมาเป็นประโยชน์กับตัวนักเรียนเอง ซึ่งจะเป็นผลทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ยั่งยืนและสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างแท้จริง ซึ่งในบางโรงเรียนทำได้ดีมาก โดยครูวิเคราะห์นักเรียนเป็นรายบุคคลเพื่อรู้ข้อมูลที่รอบด้านของนักเรียนแล้วนำมาวิเคราะห์ ส่งเสริม พัฒนาได้ถูกต้องตามความถนัดและความสนใจ ครู ร่วม PLC กับเพื่อนครูในการช่วยกันคิดแก้ปัญหาหรือพัฒนาให้กับนักเรียนคนนั้นๆ เพราะเราจะต้องไม่ทิ้งนักเรียนคนใดไว้ข้างหลัง ต้องช่วยนักเรียนให้รู้และเข้าใจ มิเช่นนั้นจะเกิดความเหลื่อมล้ำทางการเรียนรู้โดยฝีมือของเราเอง
“ทั้งนี้ การจัดการเรียนรู้ให้เด็กนักเรียนสามารถต่อยอดองค์ความรู้จากชุมชน จากปราชญ์ชาวบ้าน หรือ Soft Power ที่เรามี ในการนำองค์ความรู้เหล่านี้มาปรับประยุกต์ใช้ในการเรียน การใช้ชีวิตประจำวัน และการสร้างอาชีพได้ในอนาคต โดยที่การเรียนไม่ใช่เพียงการเรียนเฉยๆ เรียนรู้เท่าเดิม แต่จะต้องเชื่อมระหว่างรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ และสามารถต่อยอดหรือทะลุไปถึงขั้นคิดใหม่ได้ เราต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจให้กับนักเรียนถึงภูมิปัญญา วัฒนธรรมไทย รากเหง้าทางประวัติศาสตร์ของชาติไทยที่มีมาช้านาน เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในสิ่งที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้ ซึ่งทรงคุณค่าไม่แพ้ชาติใดในโลก สุดท้ายนี้สิ่งที่ขอชื่นชม คือ ความตั้งใจของผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาที่รวมทั้งผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ และครูผู้สอน ในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาตามนโยบายของ ศธ. อย่างเป็นรูปธรรม และการร่วมกันขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) เพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 โดยมีพี่เลี้ยง One Team สพฐ. มาร่วมขับเคลื่อนและติดตามเพื่อเป็นต้นแบบต่อไป เฟสต่อไปจะลงติดตามพร้อมเป็นพี่เลี้ยงขับเคลื่อนด้วยกันทั้งส่วนกลางและส่วนพื้นที่เพื่อเป้าหมายเดียวกันคือ การพัฒนาผู้เรียน” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
- ผอ.สวก.สพฐ. “วิษณุ” เปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปีและการประชุมทางวิชาการในหัวข้อ “การศึกษาไทยก้าวไกลสู่ทศวรรษหน้า” - 5 ตุลาคม 2024
- รมว.ศธ. พร้อม เลขาธิการ กพฐ. ร่วมงาน “ทิศทางการศึกษา เพื่อพัฒนาเด็กโคราช” จัดการเรียนรู้ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ด้วยนวัตกรรมจิตศึกษา PBL และ PLC - 5 ตุลาคม 2024
- รมว.ศธ. พร้อม เลขาธิการ กพฐ. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานตามนโยบาย ศธ. ณ โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม และโรงเรียนภัทรบพิตร จ.บุรีรัมย์ - 4 ตุลาคม 2024