สพฐ. อบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการจัดการเรียนการสอนด้านการอ่านและการเขียนภาษาไทย (รุ่นที่ 4 ภาคเหนือ)

วันที่ 29 ตุลาคม 2565 สถาบันภาษาไทย สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการจัดการเรียนการสอนด้านการอ่านและการเขียนภาษาไทย (รุ่นที่ 4 ภาคเหนือ) ให้แก่ครูผู้สอนภาษาไทยของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 2 (โรงเรียนละ 2 คน) สังกัดกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 3 นายตำรวจนิเทศก์ กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 11 – 14 และศึกษานิเทศก์ที่รับผิดชอบงานภาษาไทยของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในภาคเหนือ (เขตละ 1 คน) ณ โรงแรมคุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.อโณทัย ไทยวรรณศรี ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สพฐ. เป็นประธานเปิดการอบรมและบรรยายพิเศษแก่ผู้เข้าร่วมอบรมฯ โดยมีนายจตุพร ตันติสุนทร หัวหน้าฝ่ายโครงการพระราชดำริพื้นที่ภาคเหนือ พลตำรวจตรี ประกอบ พลเตชา ผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3 และดร.วิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษาเข้าร่วมในพิธีเปิดการอบรมและบรรยายพิเศษ

การจัดอบรมฯ แบ่งเป็น 4 รุ่น ใน 4 ภูมิภาค ดังนี้ รุ่นที่ 1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 16 – 19 ตุลาคม 2565 ณ โรงแรมนภาลัย จังหวัดอุดรธานี รุ่นที่ 2 ภาคกลาง ระหว่างวันที่ 20 – 23 ตุลาคม 2565 ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพมหานคร รุ่นที่ 3 ภาคใต้ ระหว่างวันที่ 24 – 27 ตุลาคม 2565 ณ โรงแรมบรรจงบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี และรุ่นที่ 4 ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 28 – 31 ตุลาคม 2565 ณ โรงแรมคุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่

การจัดอบรมฯ ครั้งนี้เป็นการอบรมรุ่นที่ 4 มีผู้เข้าร่วมอบรม ผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์             คณะวิทยากร และคณะทำงาน รวมจำนวนทั้งสิ้น 248 คน ซึ่งเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างโครงการส่วนพระองค์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีเป้าหมายสำคัญร่วมกัน คือ การช่วยให้ครูผู้สอนภาษาไทยของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 2 นายตำรวจนิเทศก์       และศึกษานิเทศก์ที่รับผิดชอบงานภาษาไทยของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาสาระความรู้ภาษาไทยเชิงลึก เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนานักเรียนให้อ่านออกเขียนได้อย่างเหมาะสมแก่บริบทในชั้นเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ภาพ/ข่าว : สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา