สพฐ. ปรับกลยุทธ์รวมพลังสร้างความเข้มแข็ง  บูรณาการและลดภาระหน่วยงานเคลื่อนคุณภาพสู่นักเรียนทั้งประเทศ

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช  รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานของสำนักที่อยู่ในการกำกับดูแลรับผิดชอบ ตามที่เลขาฯ กพฐ มอบหมายให้ดูแลและขับเคลื่อนหน่วยงานภายใน สพฐ. โดยมีผู้อำนวยการสำนักฯ หัวหน้าหน่วย และบุคลากรของสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (สวก.) สำนักทดสอบทางการศึกษา (สทศ.) สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) สำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา (สบว.) สำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย (สมป.) สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) หน่วยศึกษานิเทศก์ สพฐ. (ศนฐ.) และสำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน (สทร.) เฉพาะในส่วนงานของศูนย์พัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกลและงานโครงการจัดการศึกษาทางไกลแบบสื่อสารสองทาง (DLTV) รวม 7 สำนัก 2 กลุ่มงาน จำนวน 30 คน เข้าร่วมประชุม

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ เป็นการปรับรูปแบบสร้างความเข้มแข็งของสำนักต่างๆ ให้การทำงานลงสู่คุณภาพผู้เรียน ชัดเจนในเป้าหมาย บูรณาการงาน ลดภาระหน่วยในพื้นที่ เฟ้นหา Best Practice ของแต่ละโครงการเพื่อแบ่งปัน และพัฒนาเป้าหมายของแต่ละโครงการที่ลงไปยังเขตพื้นที่หรือโรงเรียนใดที่ไม่ได้ตามมาตรฐานและร่วมเติมเต็ม เพื่อยกระดับทั้งประเทศในทุกเรื่อง โดยเน้นการหลอมรวมการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างโอกาสให้กับนักเรียนได้อย่างทั่วถึง ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทางด้านวิชาการ (สวก.) การวัดและประเมินผล (สทศ.) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพ เช่น สำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน (สทร.) โครงการจัดการการเรียนการสอนทางไกลแบบสื่อสารสองทางที่สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนขนาดเล็ก ในด้านอุปกรณ์ สื่อ และการพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ รวมถึงหน่วยศึกษานิเทศก์ (ศนฐ.) ที่เป็นหน่วยงานส่งเสริมสนับสนุนการทำงานของครูได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการเขียนแผนการสอน และการนิเทศภายในโรงเรียน และยังมีหน่วยเสริมสร้างคุณภาพที่สามารถเป็นพี่เลี้ยงได้อย่างทั่วถึง จากสำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา (สบว.) ที่มีโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ทั้ง 12 แห่ง และสำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย (สมป.) โดยโรงเรียนมาตรฐานสากลที่มีตัวอย่างทั้งในด้านการบริหารจัดการ และคุณภาพที่สามารถเทียบได้กับสากล เช่น ผลการประเมิน PISA ในกลุ่มโรงเรียนมาตรฐานสากลของประเทศไทย เรามีคะแนนอยู่ในระดับสูงทัดเทียมประเทศทางทวีปยุโรปได้

นอกจากนี้ ยังสร้างโอกาสและความเท่าเทียมในด้านของคุณภาพผู้เรียนได้อย่างทั่วถึง ทั้งโรงเรียนที่อยู่ในสังกัดของสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) ประกอบด้วย โรงเรียนในกลุ่มศึกษาสงเคราะห์ 52 แห่ง โรงเรียนเฉพาะความพิการ 49 แห่ง และศูนย์การศึกษาพิเศษ 77 แห่ง ซึ่งจะทำความร่วมมือระหว่างโรงเรียนที่มีคุณภาพจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย โรงเรียนมัธยมศึกษาในโครงการมาตรฐานสากล หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยในพื้นที่ ในการสร้างความเข้มแข็งและการหลอมรวมการดำเนินงานของทุกสำนักฯ เพื่อบรรลุผลคุณภาพตามเป้าหมายของหลักสูตรชาติทั้ง 3 ด้าน คือ มาตรฐานตัวชี้วัด สมรรถนะ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ด้วยกระบวนการ Active Learning ส่งเสริมการใช้แหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่ทุกที่เป็นห้องเรียน ใช้ SoftPower ที่ทรงคุณค่า ปลดรั้วโรงเรียนใช้ทรัพยากรร่วมทั้งบุคลากรและความพร้อมห้องเรียนเพื่อสร้างโอกาสโรงเรียนน้องให้เป็นโรงเรียนพี่ที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นเบ้าหลอมในการพัฒนาคุณลักษณะของผู้เรียน สมรรถนะ ตามนโยบายของนางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. ทำให้เกิดความเท่าเทียมทางการเรียนรู้ เน้นคุณภาพตามบริบทของแต่ละแห่งอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ในส่วนของการศึกษาพิเศษที่ต้องเสริมสร้างกำลังใจในด้านความก้าวหน้าของครูผู้สอน ก็ได้มีการเน้นย้ำและขับเคลื่อนในระบบของการขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะด้วยรูปแบบของ PA SupportTeam ทั่วทุกภูมิภาค และยังเน้นย้ำในเรื่องความปลอดภัยของสถานศึกษาที่ต้องให้เกิดขึ้นกับโรงเรียนทุกแห่ง และสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) ที่จะต้องทำหน้าที่ของตนเองในการเป็นฝ่ายวิชาการให้กับโรงเรียนในจังหวัดพื้นที่นวัตกรรมที่เข้าไปช่วยเหลือ ดูแล และกำกับการขับเคลื่อนในด้านวิชาการให้กับโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมได้อย่างถูกต้องเพื่อคุณภาพผู้เรียนของสพฐ. ต่อไป

” การปรับกลยุทธ์ในการทำงานครั้งนี้ จะเป็นการปรับโฉมรูปแบบการขับเคลื่อนจากส่วนกลาง โดยมีการวางแผน กำหนดรูปแบบการดำเนินการ เป็นแผนงานในการนำร่อง หรือทั้งประเทศ ที่สำคัญคือการกำหนดเป้าหมายที่จะต้องดำเนินการไปให้ถึง จัดทำปฏิทินการดำเนินงาน (Timeline) ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ที่หลากหลายผ่าน สื่อช่องทางต่าง ๆ และที่สำคัญการติดตามอย่างเป็นระบบ  ดึงตัวอย่างที่ดี (Best Practice) สู่การชื่นชมเสริมสร้างกำลังใจในการทำงานของโรงเรียน ก็จะส่งผลให้การพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว