สพฐ. เร่งเดินหน้าสนับสนุน Esports ในสถานศึกษา

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนขับเคลื่อนกระบวนการและนวัตกรรมจากงาน MOE Mini Hackathon 2022 เพื่อแก้ปัญหา Learning Loss จากที่กระทรวงศึกษาธิการได้มีนโยบายแก้ปัญหาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ หรือ Learning Loss ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานระดับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา ครูผู้สอน ผู้ปกครองและนักเรียน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงเปิดโอกาสให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบได้มีส่วนร่วมแก้ปัญหาในมุมมองและตามบริบทของพื้นที่ โดยใช้วิธีการที่เรียกว่า Hackathon (แฮกคาทอน)

ในการจัดการประชุมในครั้งนี้ สพฐ. ยังได้รับมอบหมายนโยบายเร่งด่วนให้ขับเคลื่อนเรื่อง Esports ให้เกิดขึ้นในระดับกระทรวง ซึ่งแผนในระยะแรก คือ การขับเคลื่อนใน 3 เรื่องหลัก คือ การประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกิดความเข้าใจและทัศนคติที่ดีต่อโครงการ เรื่องที่สอง คือ การจัดทำคู่มือ/แนวทางการส่งเสริม สนับสนุน Esports ในสถานศึกษา และสุดท้าย คือการจัดการแข่งขัน ซึ่งที่ผ่านมาเราได้สร้างภาคีเครือข่ายเพื่อหาความร่วมมือประกอบด้วย 7 หน่วยงาน ที่ต้องลงนามในบันทึก MOU ที่มีกำหนดจัดขึ้นในกลางเดือนธันวาคม 2565 นี้ และหลังจากนั้นเราได้วางแผนที่จะจัดการแข่งขันในระดับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วประเทศต่อไป


นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ เป็นการทำงานที่ต้องการผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม เพื่อขับเคลื่อนแนวนโยบายของกระทรวงศึกษาที่เป็น 2 วาระเร่งด่วน ให้บรรลุเป้าหมายอย่างแท้จริง วาระแรก คือ เรื่อง Esports ซึ่งนับเป็นโอกาสดีที่ผู้บริหารของกระทรวงได้พยายามผลักดันในเรื่องนี้ เพราะขณะนี้โลกยุคดิจิทัล นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงของชีวิตหลายอย่าง ตั้งแต่ความเป็นอยู่ การติดต่อสื่อสารจนไปถึงรูปแบบของการทำธุรกิจ และพัฒนาเกมให้นำไปสู่การแข่งขันกีฬา หรือ Esports ซึ่งสมัยก่อน การเล่นเกม ถือว่าเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ต้องห้ามเด็ก แต่ยุคปัจจุบันมีการพัฒนาเกมจนนำไปสู่อุตสาหกรรม ทั้งด้านการกีฬาและธุรกิจ และกำลังเป็นที่นิยมทั่วโลก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจในเรื่องของ Esports อย่างมาก นับเป็นการส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มทักษะการเรียนรู้ มีวินัย รู้จักเคารพกติกา เพื่อเป็นรากฐานพัฒนาต่อยอดอาชีพในอนาคต ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายอย่างเช่น เรื่อง Active Learning ซึ่งเป็นการตอบโจทย์การเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้ลงมือกระทำและได้ใช้กระบวนการคิด และได้พัฒนาการมีส่วนร่วมและการทำงานเป็นทีม ส่วนอีกงานที่เป็นชื่องานจริงๆ คือ การสรุปผลการดำเนินงานการจัดแข่งขัน Hackathon เพื่อนำข้อสรุปตั้งแต่เกิดการแข่งขัน แล้วได้ไอเดีย หลังจากนั้นได้นำไอเดียไปต่อยอดให้เกิดต้นแบบพร้อมกับนำไปทดลองใช้จริงกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ จำเป็นต้องสรุป
ให้เห็นภาพและทำแผนเพื่อนำไปสู่การขยายผลต่อไป ทั้ง 2 งานที่กล่าวมา ถือเป็นงานสำคัญ เป็นงานที่ไม่ใช่ภาพของ สพฐ. เท่านั้น แต่เป็นภาพในระดับกระทรวงศึกษาธิการ และเป็นงานที่จะเป็นประโยชน์มหาศาลกับเยาวชนของเรา และมีรายละเอียดค่อนข้างมาก ต้องอาศัยการออกแบบงาน การวางแผน และประสบการณ์จากทุกคน รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว