วันที่ 2 ธันวาคม 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยด้านการศึกษาและสาธารณสุข ครั้งที่ 2/2565 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วม อาทิ คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ที่ปรึกษาบอร์ดพัฒนาศักยภาพเด็กไทย ด้านการศึกษาและสาธารณสุข นางพรรณพิมล วิปุลากร คณะที่ปรึกษา รมว.ศธ. นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. นายธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กอศ. นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัด ศธ. นางเกศทิพย์ ศุภวานิช และนายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. ตลอดจนผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และ ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์
นางสาวตรีนุช กล่าวว่า การประชุมร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันนี้ เพื่อร่วมขับเคลื่อนการสร้างเสริมศักยภาพเด็กไทย ตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาเด็กในศตวรรษที่ 21 และได้มีการลงนาม MOU ร่วมกัน 12 กระทรวง โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาเด็ก ตามหลัก 4H ประกอบด้วย Head : เก่ง ฉลาด มีความรู้ความสามารถ Heart : เป็นคนดี มีวินัย มีคุณธรรมจริยธรรม มีจิตสำนึกที่ดีต่อตนเองและส่วนรวม Hand : มีทักษะด้านอาชีพ ใช้ความสามารถตนเองเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และ Health : แข็งแรง รอบรู้ พฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม สุขภาพดี ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ และมีเป้าหมายสำคัญในการบูรณาการกับหลายกระทรวง ซึ่งจากสถานการณ์ในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้เข้ามามีส่วนช่วยขับเคลื่อนการดูแลนักเรียนทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งได้รับการรายงานเคสทางด้านปัญหาจิตใจและความเครียดของเด็กมากยิ่งขึ้น การดูแลปัญหานี้และปัญหาอื่นๆ จึงควรได้รับการดูแลที่ถูกต้องทันต่อสถานการณ์
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติที่สำคัญในหลายประเด็น ได้แก่ การเห็นชอบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาศักยภาพเด็กไทย ด้านการศึกษาและสาธารณสุข โดยมี รมว.ศธ. ปลัด ศธ. เลขาธิการ กพฐ.-สกศ.-กอศ.-กช. และคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เป็นคณะที่ปรึกษา นางพรรณพิมล วิปุลากร คณะที่ปรึกษา รมว.ศธ. เป็นประธานฯ นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. เป็นกรรมการและหัวหน้าเลขานุการ เนื่องจากผลการสำรวจพบว่าเด็กไทยในบางพื้นที่มีระดับสติปัญญา (IQ) และความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) อยู่ในระดับที่ควรได้รับการพัฒนา รวมทั้งปัญหาด้านโภชนาการในเด็ก ปัญหาสิ่งแวดล้อม และเด็กไทยมีภาวะเครียด ซึมเศร้าในกลุ่มเด็กนักเรียนมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ศธ. สธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้ดำเนินการร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และพัฒนาศักยภาพเด็กไทยด้านสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพ
อีกทั้งได้รับทราบการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาศักยภาพเด็กไทย ด้านการศึกษาและสาธารณสุข ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งมี รมว.ศธ. ปลัด ศธ. เลขาธิการ สกศ.-กอศ.-กช. คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา และนางพรรณพิมล วิปุลากร เป็นคณะที่ปรึกษา นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. เป็นประธาน และนายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผอ.สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. เป็นกรรมการและเลขานุการ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายให้มีการบูรณาการงานภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) สู่เป้าหมายหลัก “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยหนึ่งในนัยยะสำคัญคือมุ่งพัฒนาศักยภาพเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 ให้เป็นคนเก่ง ดี มีความรู้ มีทักษะที่จำเป็น คิดวิเคราะห์ รักการเรียนรู้ มีสำนึกพลเมืองดี กล้าหาญในทางจริยธรรม สามารถแก้ปัญหา ปรับตัว สื่อสาร และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญต้องมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง จิตใจดี ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดี ปลอดภัย และเอื้อต่อการเรียนรู้
พร้อมกันนั้น ได้เตรียมจัดงานกิจกรรมเปิดตัว “หนึ่งโรงเรียนหนึ่งครูอนามัย สร้างเด็กไทยรอบรู้สุขภาพ” โดยที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการเตรียมการจัดงานกิจกรรมเปิดตัวโครงการ “หนึ่งโรงเรียนหนึ่งครูอนามัย สร้างเด็กไทยรอบรู้สุขภาพ” ซึ่งภายในงานจะมีการจัดนิทรรศการ “ครูอนามัย สร้างเด็กไทยรู้สุขภาพ” ผ่าน 6 Module ได้แก่ ทักษะสุขภาพ ทักษะชีวิต และทักษะสังคม โดยจะดำเนินการ Kick off พร้อมกันทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเร็ว ๆ นี้
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบความก้าวหน้าการเชื่อมโยงระบบข้อมูล และการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพเด็กไทย อีกทั้งความก้าวหน้าการดำเนินงาน School Health Hero รวมทั้งความก้าวหน้าการดำเนินโปรแกรม Demo และการสร้างเสริมศักยภาพเด็กไทยและงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ตลอดจนความก้าวหน้าการดำเนินงานการสร้างเสริมศักยภาพและสุขภาวะเด็กไทย พร้อมแต่งตั้งอธิบดีกรมการแพทย์หรือผู้แทน และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือผู้แทนเป็นกรรมการเพิ่มเติมในคณะกรรมการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยด้านการศึกษาและสาธารณสุข อีกด้วย