วันที่ 9 ธันวาคม 2565 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายใน ระดับปฐมวัย และระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 1/2565 ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 และห้องประชุมผ่านระบบออนไลน์ โดยมี นายชนาธิป ทุ้ยแป รักษาการผู้อำนวยการสำนักทดสอบทางการศึกษา นางลำใย สนั่นรัมย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเครื่องมือวัดผล สพฐ. ผู้ทรงคุณวุฒิ อาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้แทนจากสำนักงานสภาการศึกษา ผู้แทนจากหน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษาต่าง ๆ และนักวิชาการศึกษาจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเข้าร่วมประชุม
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า ตามที่ กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการปฏิรูประบบการประเมินและการประกันคุณภาพการศึกษา โดยมีนโยบายปรับปรุงมาตรฐานและประเด็นพิจารณาให้สะท้อนถึงคุณภาพอย่างแท้จริง เน้นการประเมินตามสภาพจริงที่ไม่ยุ่งยาก เพื่อลดภาระการจัดทำเอกสาร ที่ใช้ในการประเมิน ปรับกระบวนทัศน์ในการประเมินที่มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาบนพื้นฐานบริบทของสถานศึกษาและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซี่งเป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดมาตรฐานและแนวทางในการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้สถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกสังกัดทั่วประเทศนำไปใช้พัฒนาคุณภาพสถานศึกษา จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายใน ระดับปฐมวัย และระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากหน่วยงานต้นสังกัด และเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการพัฒนาระบบประกันคุณภาพในระดับปฐมวัย และระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
นางเกศทิพย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษานั้น จะต้องมีการปรับปรุงมาตรฐานเพื่อการพัฒนา และวางแนวทางในการพัฒนาให้เป็นไปตามยุคสมัย มีการทบทวนตรวจสอบมาตรฐานการศึกษาเดิม และเพิ่มเติมให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยระบบการประกันคุณภาพในสถานศึกษาต้อง ไม่สร้างภาระ และให้ความรู้สึกเหมือนเป็นงานประจำ และมุ่งผลสู่ผู้เรียนในเชิงประจักษ์ ซึ่งเป้าหมายสำคัญคือต้องสร้างความเชื่อมั่นต่อชุมชนและสังคมว่าผู้เรียนมีคุณภาพอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในระดับปฐมวัย และระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีมติให้ สพฐ. ดำเนินการปรับมาตรฐานการศึกษาเพื่อการประกันคุณภาพการศึกษาทั้งในระดับปฐมวัยและระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีเหตุผลหลักในการปรับมาตรฐานการศึกษา ดังนี้
1. นโยบายการจัดการศึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวตรีนุช เทียนทอง) ข้อที่ 5 การปรับระบบการประเมินผลการศึกษาและการประกันคุณภาพการศึกษา
2. ปรับเปลี่ยนมาตรฐานการศึกษาระดับปฐมวัยและระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ยึดกรอบการมาตรฐานการศึกษาชาติเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรฐานด้านคุณภาพผู้เรียน
3. คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ใช้มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติเป็นมาตรฐานกลางของประเทศและให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องนำมาตรฐานไปใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริม สนับสนุนให้สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย (มีความสอดคล้องกัน แต่เนื้อหาสาระจะมีความละเอียดที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องปรับให้สอดรับกัน หรือเลือกใช้อันใดอันหนึ่ง)
4. การเปลี่ยนแปลงทางองค์ความรู้และเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด องค์ความรู้และเทคโนโลยีมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว รูปแบบ วิธีการเรียนรู้ ดังนั้น มาตรฐานการศึกษาควรมีการปรับปรุงและพัฒนาให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง
“เพื่อการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องตามนโยบายของ รมว.ศธ. และเลขาธิการ กพฐ. ในการพัฒนาผู้เรียนในยุคศตวรรษที่ 21 ดังนั้น ระบบประกันคุณภาพการศึกษาจะต้องมีความยืดหยุ่น ทันสมัย และต้องมุ่งเน้นคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อให้ผู้ปกครองและชุมชนเกิดความเชื่อมั่นในกระบวนการจัดการศึกษาของสถานศึกษา” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
- สพฐ. ประชุมการขับเคลื่อนคุณภาพการจัดการศึกษามัธยมศึกษา 2567 ขับเคลื่อน “เรียนดี มีความสุข” ต่อเนื่อง - 12 กันยายน 2024
- กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะผู้บริหารและครูกลุ่มโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัยฯ เฝ้าฯ - 12 กันยายน 2024
- สพฐ. เดินหน้าเรียนดีมีความสุข ประชุมผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ครั้งที่ 36/2567 - 10 กันยายน 2024