วันที่ 15 ธันวาคม 2565 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มอบหมายให้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการการวางแผนขับเคลื่อนคุณภาพการจัดการศึกษามัธยมศึกษาโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ณ โรงแรมเดอะพาลาซโซ่ รัชดา กรุงเทพมหานคร โดยบรรยายพิเศษในหัวข้อ “สะท้อนบทเรียนการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาตามบริบท” ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา 62 เขต ประธานและเลขานุการเครือข่ายส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการมัธยมศึกษา จังหวัด 78 เครือข่าย รวมถึงวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะทำงาน และผู้สังเกตการณ์ รวมทั้งสิ้น 260 คน
นางเกศทิพย์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนคุณภาพการจัดการศึกษามัธยมศึกษา เป็นสิ่งที่โรงเรียนได้ดำเนินการต่อเนื่องมาโดยตลอด และมีความพร้อมทั้งบุคลากรครูผู้สอน ผู้บริหาร เครือข่ายศิษย์เก่า ตลอดจนชุมชนในพื้นที่ ที่พร้อมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาคุณภาพ ความเข้มแข็งในการร่วมกันพัฒนาโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน โรงเรียนพี่ดูแลโรงเรียนน้อง และดูแลเป็นพิเศษ เร่งด่วน สำหรับโรงเรียนที่ต้องได้รับการแบ่งปันอุปกรณ์ ห้องเรียนในพื้นที่เดียวกัน เพื่อให้เกิดคุณภาพไปด้วยกัน รวมทั้งจะเกิดการพัฒนาสู่ตัวผู้เรียนอย่างเต็มที่ในทุกมิติ ทั้งด้านวิชาการ กีฬา ดนตรี อาชีพ และเป็น Multi-skills ของผู้เรียน และถ้าทุกพื้นที่ร่วมมือกัน ย่อมจะส่งผลให้เกิดการยกระดับคุณภาพได้ทั้งประเทศ ซึ่ง สพฐ. มีความเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าโรงเรียนภายใต้การบริหารจัดการศึกษาของผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้อง จะสามารถขับเคลื่อนและพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาในเชิงประจักษ์ได้ และเกิดการแบ่งปันสิ่งที่ดีให้เกิดกับโรงเรียนทุกโรงได้ นักเรียนไม่ว่าเรียนที่โรงเรียนใดจะได้รับโอกาสอย่างทั่วถึงแน่นอน
พร้อมกันนั้น ได้มีข้อเสนอแนะฝากให้ทางผู้บริหารซึ่งเป็นกลไกที่จะก่อให้เกิดผลตามเป้าหมาย “นักเรียนดี และเก่ง อย่างมีความสุข” และส่วนสำคัญอย่างยิ่งก็คือเขตพื้นที่และเครือข่าย ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อให้โรงเรียนนำสู่การปฏิบัติ โดยผู้เรียนจะต้องได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม และได้รับการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาตามความถนัดและความสนใจ จึงจะถือได้ว่าเป็นการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาตามบริบท รวมทั้งใช้แหล่งเรียนรู้ใกล้โรงเรียนเป็นห้องเรียนรวมรายวิชาที่เป็นหน่วยบูรณาการทั้งตัวชี้วัดและข้ามกลุ่มสาระการเรียนรู้ แต่เป็นความรู้ที่ครบทั้งมาตรฐาน/ตัวชี้วัด นำไปสู่ขั้น Apply และง่ายต่อการเกิดสมรรถนะของผู้เรียน รวมทั้งยังสามารถบ่มเพาะคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามเป้าหมายของหลักสูตรชาติ ถือเป็นการต่อยอด Active Learning สร้างความสัมพันธ์ ผูกพันธ์กับชุมชน เป็นการสร้างความเข้มแข็งในระดับพื้นที่ให้เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นไทย และเป็นบันไดสู่สากลเชิงประจักษ์ได้อย่างแท้จริง รวมทั้งการส่งเสริมให้ทั้งผู้สอนและผู้เรียนมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง เพื่อให้เกิดทัศนคติที่ดี มีความภาคภูมิใจในประเทศและบ้านเมือง ซึ่งหากมีคุณลักษณะนี้เกิดขึ้น ก็ย่อมจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาในด้านอื่น ๆ ตามไปด้วย เช่น ด้านวิชาการ ด้านสังคม ด้านอาชีพ เป็นพลเมืองที่ดีมีคุณภาพต่อไปได้
“สุดท้ายนี้ ขอชื่นชมโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ที่ได้ดำเนินการขับเคลื่อนพัฒนาการจัดการศึกษาและเกิดผลเชิงประจักษ์มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการบูรณาการกันทุกภาคส่วนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการยกระดับคุณภาพการศึกษา อาทิ ความสำเร็จของโรงเรียนมาตรฐานสากล กระบวนการ IS ที่พัฒนาผู้สอนและผู้เรียนให้มีคุณภาพ ความสำเร็จของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ที่ขับเคลื่อนโดยยึดอุดมการณ์ 9 ข้อ มีการจัดกิจกรรมย่อยที่ทำให้บรรลุอุดมการณ์ เช่น กิจกรรมอ่านหนังสือ ที่มีจุดเริ่มต้นจากการตั้งปัญหาที่อยากรู้และให้นักเรียนได้ค้นคว้าหาความรู้จากหนังสือในแขนงวิชาต่าง ๆ เป็นต้น รวมถึงความสำเร็จของสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา สร้างงานวิจัยคืนสู่ชุมชน โรงเรียนตากพิทยาคม นอกจากเก่งด้านวิชาการแล้ว ยังมีสมรรถนะด้านดนตรีสื่อสารออกมาภายใต้ความภูมิใจโรงเรียนที่ตนเองเรียน โรงเรียนสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ที่สามารถพัฒนาให้นักเรียนคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ซึ่งสะท้อนได้เป็นอย่างดีว่า สพฐ. มีการจัดการศึกษาได้ดีและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ สพฐ. มีความเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าโรงเรียนภายใต้การบริหารจัดการศึกษาของผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้อง จะสามารถขับเคลื่อนและพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาเชิงประจักษ์ และเกิดการแบ่งปันสิ่งที่ดีให้เกิดกับโรงเรียนทุกโรงได้ และนำไปสู่การยกระดับคุณภาพทั้งประเทศได้ ขอให้ร่วมกันตั้งเป้าหมายและไปให้ถึงโดยมีกิจกรรมที่ตอบเป้าหมาย รวมทั้งทำทุกสะพานเชื่อมให้เข้มแข็ง ให้ถึงนักเรียนให้ได้ ผลเชิงประจักษ์แน่นอนค่ะ” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
- เลขาธิการ กพฐ. “ธนุ” ประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 4/2567 - 5 พฤศจิกายน 2024
- รมว.ศธ. พร้อม เลขาธิการ กพฐ. ร่วมกิจกรรมยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน “9 เตรียมน้อม เตรียมความพร้อม เติมความรู้ สู่มหาวิทยาลัย” โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า - 4 พฤศจิกายน 2024
- สพฐ. ร่วมกิจกรรม “รื่นรมย์ สมฤดี 132 ปี กระทรวงศึกษาธิการ” (24 ตุลาคม 2567) - 24 ตุลาคม 2024