รองเลขาธิการ กพฐ. “พัฒนะ” ร่วมแถลงข่าวบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ “เพื่อนักเรียนเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาผ่านโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกลและพื้นที่ชายขอบ”

วันที่ 15 ธันวาคม 2565 นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ร่วมแถลงข่าวบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ “เพื่อนักเรียนเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาผ่านโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกลและพื้นที่ชายขอบ” ณ บริเวณ ห้องโถง ชั้น 1 อาคารอํานวยการสํานักงาน กสทช. กรุงเทพมหานคร

สํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และมูลนิธิยุวพัฒน์ (โครงการร้อยพลังการศึกษา) ได้จัดทําบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการ “เพื่อนักเรียนเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาผ่านโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ในพื้นที่ห่างไกลและพื้นที่ชายขอบ” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความร่วมมือและต่อยอดโครงการศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะ (USO Net) และห้องบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะ (USO Wrap) ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับนักเรียน และสามารถขยายผลความร่วมมือในวงกว้างมากขึ้น รวมถึงขยายเครื่องมือร้อยพลังการศึกษา และภาคีเครือข่าย (ห้องเรียนวิชาวิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษรูปแบบดิจิทัล) สําหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย จนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น

ทั้งนี้ สํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ มูลนิธิยุวพัฒน์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565

นายพัฒนะ พัฒนทวีดล กล่าวว่า กระผม ในนามของ สพฐ. รู้สึกเป็นเกียรติ และยินดีอย่างยิ่ง ที่ร่วมงานแถลงข่าวในวันนี้ โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการเพื่อนักเรียนเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาผ่านโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกลและพื้นที่ชายขอบ” ถือเป็นความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ทั้งตัวเด็ก ครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่อยู่ในพื้นที่ ห่างไกลและพื้นที่ชายขอบ ได้มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีผ่านศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตความเร็ว สูงสาธารณะ (USO Net) และห้องบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะ (USO Wrap) ทําให้เด็ก ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการพัฒนาทักษะที่จําเป็น เพิ่มสมรรถนะการเรียนรู้ ทําให้เกิดชุมชนการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ โดย สพฐ. จะประชาสัมพันธ์และอํานวยความสะดวกให้โรงเรียนเข้าร่วมโครงการ และในอนาคตจะสนับสนุนในเชิงโครงสร้างให้เกิดโรงเรียนเครือข่าย สังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ โดยใช้พื้นที่เป็นฐานในการพัฒนาผ่านศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (HCEC) ในการอบรมหลักสูตรพัฒนาครูและบุคลากร ทางการศึกษาและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป