วันที่ 17 ธันวาคม 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) อาทิ นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการ รมว.ศธ. นายอรรถพล สังขวาสี ปลัด ศธ. นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กอศ. นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ สกศ. ร่วมพิธีเปิดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย “Unlock a better life” สร้างโอกาสใหม่เพื่อครูไทยที่ดีกว่า โดยมี ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รองปลัดกระทรวงการคลัง รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย ผู้จัดการใหญ่ บ.ข้อมูลเครดิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ เลขาธิการ กบข. เลขาธิการ กอช. เลขาธิการ ก.ล.ต. ผู้จัดการกองทุน กยศ. รวมถึงผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันการเงิน และ ครูและบุคลากรการศึกษา เข้าร่วมกว่า 1,000 คน โดยงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-18 ธันวาคม 2565 ณ Hall 5 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. กล่าวว่า ในปัจจุบัน มีครูกว่า 9 แสนคนทั่วประเทศ หรือประมาณ 80% มีหนี้สินรวมกัน 1.4 ล้านล้านบาท โดยเจ้าหนี้รายใหญ่สุด คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู จำนวน 8.9 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 64 รองลงมาคือ ธนาคารออมสิน จำนวน 3.49 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 25 ของหนี้สินครูทั้งหมด โดยรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำหนดให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้สินภาคครัวเรือน โดยในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีบทบาทในการดูแลสวัสดิการ และสวัสดิภาพแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้เร่งรัดการขับเคลื่อนตามนโยบาย ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยมีเป้าหมายให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นผู้มีวินัยทางการเงิน เพื่อสามารถปฏิบัติหน้าที่ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ และจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน และเป็นการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพครู
“กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้จัดมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย “Unlock a better life” สร้างโอกาสใหม่ เพื่อชีวิตครูไทยที่ดีกว่า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายผลการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบเป็นฐาน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสถาบันการเงิน และสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศ พร้อมทั้งดำเนินการไกล่เกลี่ยหนี้ของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีหรือถูกบังคับคดีทางกฎหมาย รวมทั้งผู้ค้ำประกัน จำนวน 15,131 ราย รวมมูลค่ากว่า 6,021 ล้านบาท และเพื่อเสริมสร้างความรู้ด้านการวางแผนทางการเงิน การลงทุน และการบริหารจัดการหนี้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา และประชาชนทั่วไป ให้เป็นผู้มีความรู้ และมีระเบียบวินัยทางการเงิน โดยกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ที่อยู่ระหว่างขั้นตอนของการฟ้องร้องดำเนินคดี การปรับโครงสร้างหนี้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู และสถาบันการเงิน การให้บริการวางแผนและให้คำปรึกษาการออม การกู้ยืม และการลงทุน การอบรมให้ความรู้ด้านการเงิน และการบริหารจัดการหนี้สิน และยังมีนิทรรศการผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการอีกด้วย” รมว.ศธ. กล่าว
พร้อมกันนี้ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ได้ร่วมบรรยายหัวข้อ “OBEC Station สถานีแก้หนี้ครู” โดยกล่าวว่า ด้วยภาวะของข้าราชการครูในอดีต ส่งผลทำให้เกิดหนี้ขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น ระบบบ้านพักครูที่ไม่พร้อม ต้องใช้พาหนะในการเดินทาง และยังมีค่าใช้จ่ายของบุตรหลาน ล้วนเป็นความจำเป็นที่ทำให้เกิดหนี้ ซึ่งเข้าใจได้ว่าแต่ละคนมีเหตุผลที่แตกต่างกันไป ศธ. จึงต้องการเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระของครู เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นผู้มีวินัยทางการเงิน สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างขวัญกำลังใจ และยกระดับมาตรฐานวิชาชีพครูให้เหมาะสมกับยุคปัจจุบันอีกด้วย
สิ่งที่เราได้ดำเนินการในขณะนี้ คือ การจัดตั้ง “OBEC Station สถานีแก้หนี้ครู” สำหรับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งมีแนวปฏิบัติใน 9 ข้อ ได้แก่
1. กำหนดให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาที่เป็นหน่วยเบิกทุกแห่งในสังกัด สพฐ. เป็น “สถานีแก้หนี้ครู” เพื่อรับลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา
2. จัดทำระบบข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ในภาพรวมของเขตพื้นที่ ข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ และข้อมูลหนี้สิน จากสถาบันการเงินของข้าราชการครู ลูกจ้างประจำ และพนักงานราชการ รวมถึงข้าราชการบำนาญ
3. จัดให้มีกระบวนการตรวจสอบเงินเดือนคงเหลือสุทธิ ให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ. 2551
4. ควบคุมการรับรองเงินเดือน การหักเงิน ณ ที่จ่าย การรับรองการให้กู้ การควบคุมยอดหนี้รวมของครูให้ไม่เกินความสามารถชำระหนี้และการให้กู้ในอนาคตในจุดเดียว 5. จัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านการวางแผนทางการเงิน การลงทุน และการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามความเหมาะสม 6. กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ร่วมกันระหว่างสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ส่วนราชการและสถาบันการเงินในเขตพื้นที่และหน่วยงานระดับจังหวัด
7. ร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูและสถาบันการเงินในการปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ทุกรายหรือรวมหนี้ให้ครูมีเงินเดือนเหลือสุทธิหลังหักชำระหนี้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30
8. ไกล่เกลี่ยเพื่อชะลอการฟ้องร้องก่อนการดำเนินคดีไกล่เกลี่ยระหว่างการพิจารณาคดีและการประสานงานช่วยเหลือครูในชั้นบังคับคดี รวมถึงการไกล่เกลี่ยระหว่างเจ้าหนี้กับครูและผู้ค้ำประกัน
9. พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้มีความรู้ด้านการเสริมสร้างวินัยและการวางแผนทางการเงิน
“สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อครูที่ประสบภาวะหนี้สินเข้ามาที่สถานีแก้หนี้แล้ว ครูก็จะกลับไปพร้อมขวัญและกำลังใจในการสู้ต่อ มีความสุขและมีชีวิตที่ดีขึ้น มีแรงใจในการปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่เต็มกำลัง ส่วนครูรุ่นใหม่ก็จะได้รับความรู้ด้านการวางแผนทางการเงิน เพื่อป้องกันปัญหาหนี้สินที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ สพฐ. จะมีการประชุมร่วมกับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ เพื่อซักซ้อมความเข้าใจถึงแนวปฏิบัติ 9 ข้อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง และแก้ไขปัญหาหนี้สินครูได้อย่างแท้จริง” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว