สพฐ. เสริมคุณภาพนักเรียนรอบด้าน ผ่านโครงการชุมชนเบิกบาน อาหารปลอดภัย

วันที่ 20 ธันวาคม 2565 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงาน โครงการชุมชนเบิกบาน อาหารปลอดภัย จากความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ โครงการทหารพันธุ์ดี ค่ายเม็งรายมหาราช มณฑลทหารบกที่ 37 และศูนย์ขยายพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ของโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี สพป.เชียงราย เขต 3 โดยมีผู้บริหารในพื้นที่ ประกอบด้วย รอง ผอ.สพป.เชียงราย เขต 3 ผู้บริหารโรงเรียนบ้านผาฮี้, อนุบาลแม่ฟ้าหลวง, บ้านห้วยไร่สามัคคี, บ้านป่าซางนาเงิน, เจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ 5 , บ้านขาแหย่งพัฒนาและสังวาลย์วิทย์ 8 ในโครงการชุมชนเบิกบาน อาหารปลอดภัยเพื่ออาหารกลางวันของนักเรียน

โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ได้ส่งเสริม สนับสนุนให้โรงเรียนในพื้นที่ได้เพาะปลูกพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษเพื่อเป็นอาหารกลางวันให้กับนักเรียน จากความคืบหน้าของโครงการโดยมีการวิเคราะห์พื้นที่ตามบริบทของแต่ละโรงเรียน แล้วมีการอบรมพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้ง 7 โรงเรียน และบุคลากรของเขตพื้นที่ โดยศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทั้ง 2 รุ่น แบ่งออกเป็น รุ่นที่ 1 จัดอบรมวันที่ 19-20 และ 26-27 พฤศจิกายน 2565  รุ่นที่ 2 จัดอบรมวันที่ 3-4 และ 10-11 ธันวาคม 2565 ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา เข้ารับการอบรมครบทุกโรงเรียนในโครงการ จากนั้นได้ดำเนินการออกแบบ วางแผน และการเตรียมความพร้อมของพื้นที่ โดยจะมีผู้ทรงคุณวุฒิจากโครงการทหารพันธุ์ดี เข้ามาดูแลแต่ละโรงเรียนอย่างใกล้ชิด ในส่วนของเมล็ดพันธุ์พืชที่ใช้ในการเพาะปลูกจะเป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานที่ดำเนินการขอพระราชทานโดยค่ายเม็งรายมหาราชมณฑลทหารบกที่ 37 ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการเสนอขอพระราชทาน เพื่อนำมาจัดสรรในโรงเรียนในโครงการฯ

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า จากการลงพื้นที่แปลงผักระดับประถมศึกษาของโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี ในวันนี้ พบว่านักเรียนได้เรียนรู้การปลูกผักผ่านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Project-based learning “ผักฤดูหนาว” ในการจัดกิจกรรมนักเรียนจะได้เรียนวิธีการปลูกผักกาดขาว ตั้งแต่การเตรียมดิน การเพาะเมล็ด การย้ายต้นกล้า การดูแล และการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยใช้วิธีการสืบค้น การลงมือปฏิบัติและสะท้อนคิดในการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ได้โจทย์และทรัพยากรที่ใช้ในการปลูกผักและสภาพแวดล้อมที่เหมือนกัน ดังนั้นผลสำเร็จของผลผลิตจึงขึ้นอยู่กับการวางแผนและการเอาใจใส่ในการดูแลแปลงผักของตนเอง ฉะนั้นแล้วนักเรียนแต่ละกลุ่มที่มีผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน จะสะท้อนถึงปัญหาและอุปสรรคถึงเหตุผลในการเติบโตของผลผลิตผักกาดขาวที่ไม่เท่ากลุ่มอื่น เพื่อใช้เป็นผลการสะท้อนคิดในการปลูกผักกาดขาวให้มีผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในครั้งถัดไป และนำองค์ความรู้ที่ได้จากกิจกรรมขยายผลสู่ครอบครัวต่อไป

ทั้งนี้ ได้ติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานของแต่ละโรงเรียน พบว่า แต่ละโรงเรียนมีความคืบหน้าอย่างมาก ซึ่งได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมของพื้นที่ในการปลูกผัก และบางโรงเรียนสามารถปลูกผักได้จากการเพาะพันธุ์จากผักที่มีในโรงเรียนแล้วขยายผล เพิ่มแปลงผัก ซึ่งตัวอย่างของโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคีโดยนักเรียนและครูจะร่วมกันคำนวณระยะเวลาของการเจริญเติบโตของผักแต่ละชนิด รวมถึงคำนวณจำนวนที่ต้องใช้ผักในแต่ละมื้อกลางวัน ทำให้เพียงพอต่อการใช้ประกอบอาหารกลางวันของนักเรียนอย่างทั่วถึง และในวันนี้ได้มีการประชุมเพื่อกำหนดติดตามความคืบหน้าในครั้งต่อไปซึ่งเป็นแบบออนไลน์ ในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคม 2566 และลงพื้นที่ติดตามทุกโรงเรียนในสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนมกราคม  2566

“จากการดำเนินการของโรงเรียนที่มีความตั้งใจมุ่งมั่นของผู้บริหาร ครู และบุคลากรของเขตพื้นที่ ร่วมถึงเครือข่ายที่สร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน ส่งผลให้โครงการมีความคืบหน้าอย่างยิ่ง ทั้งนี้เป็นเพราะความมุ่งหวังที่จะให้นักเรียนมีคุณภาพรอบด้าน ทั้งร่างกาย สังคม และสติปัญญา หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลสำเร็จของโครงการนี้จะเป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนอื่นๆ ทั่วประเทศได้อีกมากมาย รวมทั้งขยายผลผักปลอดสารพิษไปที่ครอบครัว ทำให้นักเรียนได้ทานสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายในทุกมื้อ พร้อมทั้งเกิดการเรียนรู้ที่บ่มเพาะความรับผิดชอบ สร้างความภูมิใจในการเป็นวิทยากรให้ผู้ปกครองและนำไปปฏิบัติที่บ้าน รวมทั้งใช้เวลาว่างในการทำประโยชน์อีกด้วย” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว