วันที่ 23 ธันวาคม 2565 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในการประชุมผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ โดยบรรยายพิเศษเรื่อง “สพฐ. วิถีใหม่ วิถีคุณภาพ การศึกษาพิเศษร่วมใจ ก้าวไปด้วยกัน” พร้อมทั้งมอบแนวทางปฏิบัติงานและเป็นขวัญกำลังใจ ให้กับผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) จำนวน 180 แห่ง ทั่วประเทศ ประกอบด้วย โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ / ศึกษาสงเคราะห์ จำนวน 52 โรง ใน 43 จังหวัด โรงเรียนเฉพาะความพิการ 51 โรง และศูนย์การศึกษาพิเศษ 77 โรง ซึ่งมีอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ณ ห้องประชุมสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ อาคาร สพฐ. 2 กระทรวงศึกษาธิการ และแบบออนไลน์
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า จากที่ได้ลงพื้นที่ทำงาน พบสิ่งที่น่าชื่นชมเกี่ยวกับโรงเรียนในสังกัด สศศ. นั่นคือ การปฏิบัติงานของผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียน ที่เอาใจใส่นักเรียนเป็นอย่างดี โรงเรียนมีความสะอาด มีระบบที่สร้างความปลอดภัย และนักเรียนได้รับโอกาสการพัฒนาจากครูที่ทุ่มเท เสียสละโดยไม่มีเวลาราชการ เพราะส่วนใหญ่เป็นหอพักนอน ส่วนที่อยากให้คำแนะนำเพิ่มเติม คือให้ผู้บริหารและครู นำจุดที่นักเรียนยังขาดมาวิเคราะห์ หาแนวทางในการพัฒนา และทำอย่างไรให้นักเรียนพิเศษ สามารถทำงานในสถานประกอบการได้อย่างดี ซึ่งมีสถานศึกษาที่พัฒนานักเรียนจนสามารถจัดการตนเองได้ และพัฒนาจนสามารถเข้าทำงานในสถานประกอบการแล้ว เช่น โรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า นอกจากพัฒนาให้จัดการตนเองได้ ยังพัฒนาได้จนถึงขั้นดูแลครอบครัว ซึ่งโอกาสของเด็กแต่ละคนและระดับในการพัฒนาถึงจะแตกต่างกัน ช่วงเวลาที่อยู่กับสถานศึกษาจะเป็นช่วงเวลาที่เติมการพัฒนาและดึงศักยภาพนักเรียนเป็นรายบุคคลได้เช่นกัน จึงนำตัวอย่างดีดีที่โรงเรียนที่ทำได้แล้วมาเป็นส่วนที่จะนำไปสู่การพัฒนาผู้บริหาร ครู ครูพี่เลี้ยง ที่จะนำสู่การจัดการเรียนรู้ที่เน้นรายบุคคลและใช้ในทุกโอกาสในการพัฒนาให้เด็กสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข รวมถึงพัฒนาในการจัดเวทีให้นักเรียนได้นำเสนอผลงานหรือศักยภาพที่โดดเด่น และนอกจากสถานศึกษาในสังกัด สศศ. แล้ว ศูนย์การศึกษาพิเศษทั่วประเทศ ต้องเป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนที่มีนักเรียนเรียนรวม เป็นผู้ช่วยนำทางวิชาการด้านการศึกษาพิเศษ เพื่อให้พร้อมที่จะพัฒนาร่วมกันแบบถูกทางเพื่อพัฒนาการที่ดีของนักเรียน
ในส่วนของแนวทางปฏิบัติงานสำหรับผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สศศ. รองเลขาธิการ กพฐ. ได้ฝากแนวทางปฏิบัติใน 4 ข้อ ประกอบด้วย
1. การจัดการศึกษาเรียนรวม เป็นการศึกษาเพื่อทุกคน (Education for All) ตอบสนองความหลากหลายของนักเรียนทุกคน นักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษได้เข้าเรียนในโรงเรียนกับนักเรียนทั่วไป โดยคำนึงถึงศักยภาพความแตกต่างระหว่างบุคคล หรือความบกพร่องเฉพาะบุคคลและได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีการแบ่งแยก ได้รับการศึกษาที่เหมาะสมกับระดับความสามารถ ด้วยการออกแบบการสอน การวัดประเมินผลที่แตกต่างกันตามความเหมาะสมรายบุคคลและได้เรียนไปกับเพื่อนในสภาพแวดล้อมเดียวกัน เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ ได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพอย่างมีความสุขและปลอดภัย และสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้ พร้อมทั้งฝากให้สถานศึกษาร่วมกันคัดกรองนักเรียน และต้องช่วยกันเติมสิ่งที่นักเรียนขาดเพื่อให้นักเรียนมีความสมบูรณ์ครบมิติโดยเฉพาะด้านจิตใจ โดยมีรูปแบบในการช่วยเหลือ 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การให้ความช่วยเหลือนักเรียนในระยะเริ่มต้นของการเรียนสำหรับนักเรียนทุกคน ระยะที่ 2 การให้ความช่วยเหลือนักเรียนที่มีภาวะเสี่ยงในการเรียนรู้ที่ไม่ทันเพื่อน เพื่อเติมเต็มเป็นพิเศษ เพื่อกลับสู่สภาวะปกติ มีความสุขกับการเรียนไปพร้อมเพื่อน และระยะที่ 3 การให้ความช่วยเหลือนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษโดยมีแผนการดูแล IEP หรือนำไปสู่ระบบการส่งต่อ ซึ่งแล้วแต่กรณี
2. การพัฒนาครู และบุคลากร ในการจัดการเรียนการสอน ให้เหมาะสมกับพัฒนาการและวุฒิภาวะของเด็ก โดยเน้นองค์รวมและเติมเต็มทั้งทักษะชีวิต การคิดวิเคราะห์ ทักษะที่ต้องมีในศตวรรษที่ 21 รวมถึงทักษะการเข้าสังคม และครูพี่เลี้ยงในเรื่องการเข้าถึงจิตวิทยาด้านต่างๆ ของนักเรียนในแต่ละประเภทของเด็กพิเศษ เนื่องจากเป็นผู้ใกล้ชิดกับนักเรียนที่สุด
3. การอบรมครูหอนอน ให้เน้นเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา การดูแลหอพักของครู เพื่อให้การเอาใจใส่ ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียนทุกคนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ซึ่งที่ผ่านมาในการตรวจเยี่ยมโรงเรียนโดยไม่แจ้งล่วงหน้าในเวลากลางคืนในหลายๆ แห่ง พบว่ามีการวางมาตรการต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบ ขอให้รักษาตรงจุดนี้ไว้ด้วยความสม่ำเสมอ เพื่อความปลอดภัยของนักเรียนทุกคนตามนโยบายของ รมว.ศธ. นางสาวตรีนุช เทียนทอง ที่เน้นเรื่องความปลอดภัยของสถานศึกษามาโดยตลอด
4. การส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยและหน้าที่พลเมือง โดยให้ครูถ่ายทอดความรู้ด้านประวัติศาสตร์ชาติไทยและหน้าที่พลเมืองให้ถูกต้อง ใช้สื่อที่สร้างสรรค์ สามารถบูรณาการไปสู่รายวิชาอื่นได้ และให้นักเรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันได้ โดยเน้นในแง่ของพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในยุคสมัยต่างๆ เพื่อให้นักเรียนมีความภาคภูมิใจในความเป็นไทยเชิงสร้างสรรค์และมีทัศนคติที่ดีต่อตนเอง ต่อสถานศึกษา ต่อสังคม และต่อประเทศชาติ ให้เป็นเด็กไทยที่พร้อมการพัฒนาสู่สากล
“ทั้งนี้ ในด้านการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง ศูนย์การศึกษาพิเศษ มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการจัดการเรียนรู้ให้เกิดพัฒนาการ จึงต้องช่วยขับเคลื่อนระบบการจัดการเรียนรวม นิเทศ กำกับ ติดตาม ช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ เป็นศูนย์ข้อมูลและส่งต่อนักเรียน ขณะที่สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ต้องอำนวยความสะดวกให้ทุกฝ่าย มีการพัฒนาผู้บริหารและครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ทางด้านครู ให้จัดทำแผนการศึกษาเฉพาะบุคคล (แผน IEP) วัดและประเมินผลเด็กตามศักยภาพแต่ละบุคคล ส่วนผู้ปกครองขอให้ความร่วมมือกับโรงเรียนด้วย สุดท้ายนี้ ขอบคุณทุกฝ่ายที่เสียสละดูแลนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษอย่างทุ่มเท ด้วยความตั้งใจ “เติมสิ่งที่ขาด ดึงศักยภาพสิ่งที่มี ประจักษ์ในคุณภาพ และอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข” ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนร่วมกันกับ สศศ. อย่างเต็มกำลังต่อไปค่ะ ตามนโยบายของเลขาธิการ กพฐ. นายอัมพร พินะสา ด้านการยกระดับคุณภาพนักเรียน ให้สอดคล้องตามความต้องการและจำเป็นตามศักยภาพ รวมถึงความปลอดภัยทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ ให้กับนักเรียนทุกคน ได้เน้นย้ำให้สถานศึกษาทุกแห่งมีระบบของการรับเรื่องและรายงานด้านความปลอดภัย รวมถึงช่วยเหลือนักเรียนได้อย่างทันท่วงทีและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
- สพฐ. เร่งสอบข้อเท็จจริง ครูสาวสอบได้ที่ 1 ชื่อหาย ย้ำต้องโปร่งใส ตรงไปตรงมา - 16 กันยายน 2024
- สพฐ. ประชุม ผอ.สพท. ยุคใหม่ เดินหน้าสานต่อ “เรียนดี มีความสุข” - 15 กันยายน 2024
- เสมา 2 ชื่นชม สพฐ. ปรับโฉมใหม่ ประชุม ผอ.สพท. เน้นผลงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน - 14 กันยายน 2024