สพฐ. เดินหน้าสื่อสารสร้างความเข้าใจการเรียนประวัติศาสตร์แนวทาง 8+1 ปรับการจัดการเรียนรู้ ต่อยอด Active Learning เรียนรู้อย่างมีความสุข

วันที่ 11 มกราคม 2566 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมทางไกลเพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจการบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีนางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ร่วมชี้แจงแนวทางการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ด้วยกระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ไปยังผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้บริหารสถานศึกษาทั่วประเทศ โดยมีผู้เข้าร่วมรับชมกว่า 29,000 คน ผ่านระบบการถ่ายทอดสด OBEC Channel
.
พร้อมกันนี้ ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ นำโดยนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ได้ฝากแนวคิดผ่านคลิปวิดีโอเกี่ยวกับเรื่องการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทย อาทิ การจัดการเรียนรู้ Gen Z จะมีวิธีการจัดการเรียนรู้อย่างไรให้เด็กนักเรียนมีความสนุก ไม่ใช่การเรียนรู้แบบท่องจำ ซึ่งจะเป็นบทบาทหน้าที่ของครูผู้สอนในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้นักเรียนเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ และทักษะกระบวนการโดยใช้เทคนิคการจัดการเรียนการสอน รวมถึงวิชาหน้าที่พลเมือง และวิชาภาษาไทย ที่จะสร้างให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ เนื่องจากในยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมาก ดังนั้นในการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์จะต้องสร้างความแตกต่างให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกสนุกสนาน ตื่นเต้น ด้วยการใช้ AR สื่อร่วมสมัยการเรียนรู้จากสถานที่จริง รวมไปถึงการเรียนรู้ลักษณะของคนไทยและวัฒนธรรมไทยอีกด้วย อีกทั้ง สพฐ. ได้กำหนดจุดเน้นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่มุ่งเน้นการจัดกระบวนการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ให้เหมาะสมตามวัยของผู้เรียน และมอบนโยบายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาดำเนินการขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ให้เห็นเป็นรูปธรรม เพื่อขยายผล สร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจร่วมกัน นำไปปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน เพื่อประสบผลตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
.
ทางด้าน นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ชี้แจงแนวทางการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ด้วยกระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) และยกตัวอย่างโรงเรียนต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ เช่น โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย โรงเรียนสันกำแพง โรงเรียนพญาไท และโรงเรียนอื่นๆ อีกมากมาย รวมถึงให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ อีกทั้งยังมีการปรับใช้สื่อที่เหมาะกับยุคสมัยและการใช้แหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น เพื่อสร้างนักเรียนไทยให้มุ่งสู่สากลอย่างภาคภูมิ ด้วยการปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดการเรียนรู้ ที่นำไปสู่ Active Learning เปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการคิด การลงมือปฏิบัติ ซึ่งครูทุกคนต้องร่วมมือกันทำให้การเรียนรู้ประวัติศาสตร์เป็นไปด้วยความสนุกสนาน สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เกิดการคิดวิเคราะห์ ผ่านการปรับการจัดการเรียนรู้ โดยบูรณาการแหล่งเรียนรู้เป็นห้องเรียนรวมรายวิชา และจัดหาสื่อการสอนที่เข้าถึงใจนักเรียน อาทิ การ์ตูนแอนิเมชั่น “เดอะไดอารี่” ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ฯ การ์ตูนแอนิเมชั่น “เมืองนิรมิต แห่งจิตตนคร และ “สัมมาทิฏฐิ ทะลุมิติมายา” ถอดมาจากหนังสือพระราชทาน ตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งพระนิพนธ์ในสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร และสืบสานต่อยอดโดยในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งสามารถทำให้นักเรียนเรียนรู้และเข้าใจในองค์ความรู้ได้ง่ายขึ้น รวมทั้งการจัดการเรียนรู้นั้นต้องลดเนื้อหาที่ซ้ำซ้อน เปิดโอกาสให้นักเรียนได้คิด และเกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย พร้อมทั้งการให้นักเรียนได้เรียนรู้นอกห้องเรียน โดยจัดทำเป็นหน่วยบูรณาการการเรียนรู้ และวิเคราะห์ว่าแหล่งเรียนรู้ดังกล่าว สอดคล้องกับกลุ่มสาระและตัวชี้วัดใด แล้วรวบตัวชี้วัดที่ซ้ำซ้อน เป็นการลดเวลา ลดภาระของทั้งครูและนักเรียน ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนวัดตลุงใต้ ที่สามารถลดเวลาในรายวิชาพื้นฐาน 27 ชั่วโมง 18 ตัวชี้วัด เหลือ 3 ชั่วโมง ผ่านการบูรณาการแหล่งเรียนรู้ใกล้โรงเรียนเป็นห้องเรียนรวม 5 วิชา เมื่อนักเรียนมีเวลาและได้เรียนสิ่งที่สนใจและถนัด จะทำให้อดทนต่อการเรียนรู้ จนสามารถสร้างสรรค์ชิ้นงานของตนเอง และนำไปต่อยอดในชีวิตได้ สอดคล้องกับเป้าหมายของหลักสูตร ได้แก่ มาตรฐานตัวชี้วัด คุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 ประการ และสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน
.
“ทั้งนี้ ยังมีศึกษานิเทศก์และผอ.โรงเรียนร่วมกันหนุนเสริม แปลงแหล่งเรียนรู้ใกล้โรงเรียนเป็นห้องเรียนรวมวิชา ซึ่งไม่ใช่การทัศนศึกษา แต่เป็นการเรียนที่แหล่งเรียนรู้แทนห้องเรียน ผ่านการรวบตัวชี้วัด โดยครูนำนักเรียนเข้าเรียนรู้ ฝึกปฏิบัติ และวัดผลได้ตามหลักสูตรฯ เช่น ศูนย์ฝึกโรงเรียนจิตอาสา 904 บางเขน ตัวอย่าง โรงเรียนพญาไท ที่ทำได้ดีมาก สะท้อนสิ่งที่นักเรียนได้เรียนรู้อย่างน่าสนใจ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ค่ายรัตนพล และอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) เป็นต้น ดิฉันขอเป็นกำลังใจและขอให้ทุกคนร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกัน โดยปรับกระบวนการเรียนรู้ต่อยอด Active Learning ดึงการมีส่วนร่วมของชุมชน พร้อมรวมพลังเพื่อสร้างนักเรียนไทยสู่สากลอย่างภาคภูมิ” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
.
นอกจากนี้ยังมีการเสวนา “การนำนโยบาย 8 + 1 สู่การปฏิบัติฯ” ซี่งนำเสนอในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ “บทบาทของหน่วยงานแต่ละระดับในการขับเคลื่อนการเรียนการสอนประวัติศาสตร์” โดย นายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา “การจัดโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษากับการเรียนการสอนประวัติศาสตร์” โดย นางสาวชยพร กระต่ายทอง รองผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา “การจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์วิถีใหม่ และการใช้สื่อแหล่งเรียนรู้” โดย นางสาวจรูญศรี แจบไธสง รองผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา “การวัดและประเมินผลกับการเรียนการสอนประวัติศาสตร์” โดย นางสาวโชติมา หนูพริก รองผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา และนายเอกสิทธิ์ ปิยะแสงทอง ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาและส่งเสริมการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ “บทบาทของการนิเทศ กำกับ ติดตาม และสนับสนุนช่วยเหลือครูในการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ผ่านทีมเสริมหนุนฯ ในพื้นที่” โดย นางรวิภัทร เหล่าคุ้ม ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศ สพฐ. เพื่อให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมรับฟังอีกด้วย ซึ่งการประชุม สื่อสาร และการเสวนาในครั้งนี้ สร้างความเข้าใจ และความชัดเจนลงสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ และระดับสถานศึกษาได้เป็นอย่างดี”