วันที่ 12 มกราคม 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) บรรยายพิเศษ เรื่อง “จุดเน้นการนิเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา” ในการประชุมปฏิบัติการเพื่อพัฒนางานนิเทศการศึกษาสำหรับผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา จำนวน 245 คน ณ โรงแรมริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงนโยบายการพัฒนาคุณภาพการศึกษา สร้างความเข้าใจแนวทางการขับเคลื่อนและพัฒนางานนิเทศ เชื่อมโยงสู่การปฏิบัติในระดับเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลการดำเนินงานและสภาพปัญหาด้านการนิเทศการศึกษา
โดยในระหว่างพิธีเปิด นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ฝากแนวคิดในการดำเนินงานถึงศึกษานิเทศก์ว่า บทบาทหน้าที่ของศึกษานิเทศก์ กระบวนการจัดการเรียนรู้ และกลไกการเปลี่ยนแปลงของโรงเรียน คือ ครูผู้สอน ซึ่งรูปแบบนิเทศและการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมจะนำไปสู่เป้าหมายของเขตพื้นที่ ศึกษานิเทศก์จึงต้องศึกษาปัญหาของโรงเรียนว่าสาเหตุเกิดจากอะไร มีนวัตกรรมอะไรที่นำมาแก้ปัญหา หรือปัญหาของโรงเรียนขยายโอกาสที่ควรต้องมีการยกระดับ เช่น ครูไม่ครบชั้น ทำให้โรงเรียนไม่มีคุณภาพ ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยศึกษานิเทศก์ เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน และใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อน
จากนั้น นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า การพัฒนาคุณภาพการศึกษาสิ่งสำคัญที่สุดคือการพัฒนาคุณภาพนักเรียนตามเป้าหมายของหลักสูตรชาติ ที่ต้องให้ความสำคัญกับการบ่มเพาะคุณลักษณะอันพึงประสงค์ สมรรถนะ และมาตรฐานความรู้ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของเป้าหมายหลักสูตร เรียนรู้อย่างมีความสุข พร้อมต่อยอดความรู้ นำไปใช้ในชีวิตประจำวันหรือช่วยเหลือดูแลชุมชนได้ การจัดกิจกรรมบูรณาการที่ให้นักเรียนเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างมีความหมาย สนุกกับการเรียนรู้ และน้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษา 4 ประการ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ลงสู่การปฏิบัติให้กับนักเรียนทุกคน การกระตุ้นให้นักเรียนได้คิดวิเคราะห์และเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ โดยหาวิธี แนวทาง เทคนิค การเข้าถึงนักเรียนผ่านวิธีการเรียนรู้และการจัดกิจกรรมที่นักเรียนสนใจ พร้อมบูรณาการหน่วยการเรียนรู้ เพื่อลดเนื้อหาที่ซ้ำซ้อน ด้วยแนวคิด “เรียนน้อย แต่ได้มาก” ซึ่งถือเป็นการลดภาระนักเรียนและครู รวมทั้งการทำแหล่งเรียนรู้ใกล้ตัวให้เป็นห้องเรียนรวมวิชา และเมื่อนักเรียนได้มีโอกาสนำวิชาที่หลากหลายมาบูรณาการร่วมกัน ผ่านการคิดวิเคราะห์ นักเรียนจะสามารถสร้างสรรค์ผลงานของตนเอง และต่อยอดในชีวิตจริงได้
นางเกศทิพย์ กล่าวต่อไปว่า คนที่สำคัญในการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาที่ได้มาตรฐาน และไปพร้อมกันทั้งประเทศได้ดีที่สุด คือศึกษานิเทศก์ ท่านจะต้องเป็นผู้เคลื่อนความเข้าใจ และนำสู่การปฏิบัติ เป็นข้อต่อสำคัญระหว่างส่วนกลางและพื้นที่ซึ่งจะต้องดำเนินการจากการขับเคลื่อนนโยบายและจุดเน้นของส่วนกลาง รวมถึงบริบทเชิงพื้นที่ของเขตพื้นที่ ของสถานศึกษาที่มุ่งเป้าหมายปลายทางอยู่ที่หลักสูตรชาติทั้ง 3 ส่วน ได้แก่ มาตรฐานตัวชี้วัด คุณลักษณะอันพึงประสงค์ และสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน ซึ่งในปัจจุบันการขับเคลื่อนที่สำคัญของ สพฐ. และจุดเน้นของการนิเทศ ให้เป็นไปตาม KPI การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนของ สพฐ. อาทิ การส่งเสริมการออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้และการนิเทศภายในสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ต้องช่วยพัฒนาครูผู้สอนในการออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ การนิเทศภายในต้องเข้มแข็ง รวมถึงการขับเคลื่อนคุณภาพ 7 สำนัก 1 กลุ่มงาน ศึกษานิเทศก์ต้องช่วยทำให้ระบบการศึกษามีคุณภาพ โดยต้องคำนึงว่าหลักสูตรควรเน้นอะไร ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้จากแหล่งเรียนรู้อื่น หรือทำอย่างไรจะให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย การยกระดับคุณภาพนักเรียนจากการนำผลการทดสอบระดับชาติ PISA, RT, NT, O-NET ไปใช้ในการพัฒนา ที่จะต้องรู้ว่าในเขตพื้นที่ของเรามีโรงเรียนใดที่สามารถเป็นแบบอย่างได้และทำได้ดี โดยถอดบทเรียนถ่ายทอดไปยังโรงเรียนที่มีข้อจำกัดต่างๆที่เป็นผลต่อการพัฒนานักเรียน ว่าควรต้องทำอย่างไร พร้อมทั้งยึดหลักที่ว่า “ไม่ว่าโรงเรียนจะใกล้หรือไกล นักเรียนต้องได้คุณภาพทุกคน” ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนขนาดใด เราจะต้องสร้างคุณภาพได้เช่นเดียวกัน
“จาก 245 เขตพื้นที่ โรงเรียน 29,000 กว่าโรง และครูอีก 400,000 กว่าคน ในการขับเคลื่อนการศึกษาให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐานทั้งประเทศ ไม่ว่าจะไกลหรือใกล้ พร้อมหรือไม่พร้อม นักเรียนของเรากว่า 6 ล้านคน ก็ต้องมีคุณภาพเป็นไปตามเป้าหมาย 3 ด้านของหลักสูตรชาติ ซึ่งความสำเร็จนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยศึกษานิเทศก์ซึ่งเป็นครูของครู เป็นพี่เลี้ยงโรงเรียน เป็นมือคุณภาพให้เขตพื้นที่ เรามาร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดคุณภาพเชิงประจักษ์ เกิดศรัทธาของพื้นที่ ผ่านคุณภาพนักเรียนไปพร้อมๆ กัน อีกทั้งร่วมสร้างความเชื่อมั่นให้ทุกอาชีพมอง สพฐ. อย่างภาคภูมิ ด้วยฝีมือพวกเราชาวศึกษานิเทศก์ค่ะ” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
นางรวิภัทร เหล่าคุ้ม ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ สพฐ. ขอบคุณท่านผู้บริหาร สพฐ. ที่ให้ความสำคัญของวิชาชีพศึกษานิเทศก์ และศึกษานิเทศก์ทุกคนพร้อมรับในภารกิจและพร้อมใจกันในการขับเคลื่อนคุณภาพระดับพื้นที่อย่างเข้มแข็งทั้งประเทศ