วันที่ 26 มกราคม 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับชาติ ครั้งที่ 70 ภาคกลางและภาคตะวันออก (การศึกษาพิเศษ) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-27 มกราคม 2566 ณ อาคารโดม โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 45 จังหวัดกาญจนบุรี
โดยมี นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ผู้เชี่ยวชาญจาก สพฐ. ผอ.ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดราชบุรี ผอ.รร.ราชประชานุเคราะห์ 45 พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ รวมถึงคณะผู้บริหาร ครู และนักเรียน จากสถานศึกษาในภาคกลางและภาคตะวันออก จำนวนทั้งสิ้น 54 แห่ง ประกอบด้วยโรงเรียนเฉพาะความพิการ จำนวน 17 แห่ง ศูนย์การศึกษาพิเศษ จำนวน 27 แห่ง และสถานศึกษาเอกชน จำนวน 10 แห่ง เข้าร่วมกิจกรรม
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า จากการจัดงานในวันนี้ จะเห็นได้ว่า สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดกิจกรรมงานศิลปห้ตถกรรมนักเรียน ซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียนที่ได้รับการพัฒนาแสดงศักยภาพผ่านกระบวนการบูรณาการความรู้แบบ 4 H นั่นคือ Head Hand Heart และ Health แสดงออกถึงความสามารถในด้านศิลปหัตถกรรมการแสดง และกิจกรรมต่างๆมากมาย ซึ่งพบว่า เป็นการแข่งขันเหมือนไม่ใช่แข่งขัน แต่เน้นการให้โอกาสในการพัฒนาในทุกๆด้านของเด็กที่ต้องการดูแลเป็นพิเศษ ได้พัฒนาทั้งทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ และทักษะวิชาการ รวมทั้งยังเป็นการพานักเรียนไปสู่สิ่งแวดล้อมที่เป็นสังคมที่ใหญ่ขึ้น การพบกันของเด็กแต่ละที่ นำไปสู่การพัฒนาอารมณ์ สังคม และจิตใจ นอกจากนี้ กิจกรรมนี้ยังเป็นจุดรวมของครูที่ดูแลนักเรียนประเภทเดียวกัน ได้รับการพัฒนานักเรียนในแนวทางต่างๆที่พื้นที่ต่างกัน เปรียบเสมือนเป็นการ PLC ของครูและผู้บริหาร จะนำไปสู่คุณภาพนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามนโยบายของท่านเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ขอชื่นชม สศศ. ที่เห็นถึงความสำคัญของการจัดการศึกษา รวมทั้งเป็นการสร้างสัมพันธภาพและเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาในภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งเป็นเครือข่ายการพัฒนาด้านการศึกษา ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนในทุก ๆ ด้านได้อย่างดี ด้วยการเพิ่มพูนและพัฒนาองค์ความรู้ด้านทักษะวิชาการ ทักษะอาชีพ และทักษะชีวิตให้แก่นักเรียน จนเกิดเป็นเวทีการแข่งขัน ที่ไม่ได้เน้นการแข่งขัน แต่เป็นการให้โอกาสนักเรียนได้แสดงออกถึงทักษะความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์จากกิจกรรมที่มีความหลากหลาย แบ่งตามความบกพร่องด้านต่างๆ ของนักเรียนอย่างชัดเจน เช่น กิจกรรมการแข่งขันวาดภาพ แบ่งการแข่งขันเป็น บกพร่องทางร่างกาย บกพร่องทางการได้ยิน และบกพร่องทางสติปัญญา หรือกิจกรรมนักเรียนจับสลากเพื่อวาดภาพ 1 ภาพ จากหัวข้อต่างๆ อาทิ เรารักในหลวงรัชกาลที่ 9 เศรษฐกิจพอเพียง ศาสตร์แห่งพระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และประเทศไทยในอนาคต ซึ่งทำให้นักเรียนได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ของตนเองตามหัวข้อที่ได้รับ
“สุดท้ายนี้ขอชื่นชมและขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา และทุกท่านที่เกี่ยวข้อง ที่เสียสละ ทุ่มเท ร่วมมือร่วมใจกันและสัมพันธภาพที่มีระหว่างกัน ทำให้เกิดการทำงานอย่างมีความสุข ส่งผลให้นักเรียนได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมที่ดีและมีประโยชน์นี้ค่ะ รวมทั้งจากศักยภาพของเด็กที่ได้มีเวทีในโอกาส จะพบแววตาที่มุ่งมั่น พยายาม พร้อมกันกับความดีใจที่ได้ออกมาพบเพื่อนใหม่นอกสถานที่ และประสบการณ์ที่แตกต่างจากเดิม จากการบอกเล่าอย่างไร้เดียงสา บอกว่า ชอบ มีคนเยอะดี มีเพื่อนใหม่ พร้อมทั้งโชว์ป้ายชื่อตัวเองอย่างภาคภูมิใจ ซึ่งบรรยากาศที่ได้เห็น จะพบถึงความใส่ใจ เสียสละ ทุ่มเทของครู ผู้บริหารที่พานักเรียนมาเพื่อให้ได้มีเวทีนี้ บางโรงเรียนส่งทุกประเภท และบอกว่า ไม่ได้หวังรางวัลใดๆ แต่หวังเพียงให้เด็กได้มีโอกาสภูมิใจ และมาแสดงศักยภาพของตนเอง ซึ่งต้องชื่มชมอย่างมาก จากบรรยากาศของสถานที่จัดการแข่งขัน แต่ละพื้นที่ของโรงเรียน จะถูกคุณครูหามุมของตนเองเพื่อให้ลูกศิษย์ได้นั่ง พักผ่อน เตรียมเสื่อ ขนม ของเล่นที่ทำให้ความซนของเด็กในแต่ละประเภทได้อยู่อย่างมีความสุข เป็นภาพที่ประทับใจมากในความเป็นครูแท้จริงค่ะ” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ทั้งนี้ ภายในงานมีกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ อาทิ การแสดง “การศึกษาพิเศษไทย หัวใจนำทาง I have a future” โดยโรงเรียนโสตศึกษา จ.นครปฐม การแสดงกลองสะบัดชัย โดยโรงเรียนเพชรบุรีปัญญานุกูล จ.เพชรบุรี และการแข่งข้นต่างๆ ซึ่งแบ่งเป็น โรงเรียนเฉพาะความพิการ มี 42 กิจกรรมหลัก 152 กิจกรรมย่อย และศูนย์การศึกษาพิเศษ มี 10 กิจกรรมหลัก 107 กิจกรรมย่อย โดยมีประเภทของการแข่งขัน ประกอบด้วย การอ่านทำนองเสนาะ ประเภทบกพร่องทางการเห็น การจัดดอกไม้สด ทุกประเภทความบกพร่อง การวาดภาพระบายสีชอล์ก ประเภทบกพร่องทางร่างกาย การวาดภาพลายเส้น ประเภทบกพร่องทางร่างกาย การปั้นดินน้ำมัน ฉีกตัดปะ ประเภทปฐมวัย และประเภทบกพร่องทางร่างกาย เป็นต้น เพราะคุณภาพการศึกษาพัฒนาได้ด้วยการสร้างโอกาสอย่างทั่วถึง และด้วยใจในการพัฒนา กับ “ครูการศึกษาพิเศษไทย หัวใจนำทางค่ะ”
- รองเลขาธิการ กพฐ. “ธีร์” ร่วมพิธีปิดโครงการฝึกอบรมบุคลากรทางการลูกเสือ ขั้นหัวหน้าผู้ให้การฝึกอบรมผู้กำกับลูกเสือ (L.T.C) รุ่นที่ 142 - 13 ธันวาคม 2024
- สพฐ. ร่วมสร้างความสุขกิจกรรมเสี่ยงโชคชิงรางวัล (สอยดาว) แสดงดนตรีรื่นรมย์ “งานกาชาด 2567” - 12 ธันวาคม 2024
- สพฐ. ร่วมงานเปิดตัวหลักสูตรออนไลน์ “Commu Max ระยะที่ 2” - 12 ธันวาคม 2024