สพฐ. วางระบบเข้มแข็งดูแลนักเรียนทุนโคเซ็นฯ สร้างชื่อเสียงอยู่ต่างแดนอย่างมีความสุข

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการทุนการศึกษาต่อสำหรับนักเรียนโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย (โรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค) ไปศึกษาต่อ ณ National Institute of Technology (KOSEN) ประเทศญี่ปุ่น ครั้งที่ 1/2566 ผ่านระบบออนไลน์ Zoom meeting

โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในการดำเนินงานโครงการทุนการศึกษาต่อสำหรับนักเรียนโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย (โรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค) ไปศึกษาต่อ ณ National Institute of Technology (KOSEN) ประเทศญี่ปุ่น ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2561 ในการจัดส่งนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยไปศึกษาต่อหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ ณ สถาบันโคเซ็นประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา 7 ปี จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี โดยมีการจัดส่งนักเรียนทุนตามโครงการฯ ไปศึกษาต่อแล้วจำนวน 2 รุ่น คือ รุ่นที่ 1 ไปศึกษาต่อในปีการศึกษา 2561 จำนวน 10 คน ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 5 และรุ่นที่ 2 ไปศึกษาต่อในปีการศึกษา 2562 จำนวน 12 คน รวมนักเรียนทุนตามโครงการฯ ที่กำลังศึกษาต่อ ณ ประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งสิ้น 22 คน

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า สพฐ. รู้สึกชื่นชมนักเรียนทุนทุกคนที่ได้ตั้งใจเรียนอย่างเต็มกำลังความสามารถ ท่ามกลางการเรียนอย่างเข้มข้นตามหลักสูตรของสถาบัน KOSEN ประเทศญี่ปุ่น นักเรียนต้องใช้การปรับตัวในการไปศึกษาต่อในต่างประเทศอย่างหนัก แต่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่แสดงให้เห็นผ่านผลการเรียน รางวัลจากการเข้าร่วมการแข่งขันต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่น ผลการเรียนและผลงานของนักเรียนทุนได้สามารถสร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจให้ สพฐ. และประเทศไทย ความสำเร็จในครั้งนี้เนื่องจากการที่นักเรียนทุนได้รับการดูแลและติดตามนักเรียนทุนเป็นรายบุคคลอย่างใกล้ชิดของสำนักผู้ดูแลนักเรียนในประเทศญี่ปุ่น สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และสำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา สพฐ. ที่ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการดูแลนักเรียนเป็นอย่างดี 

“สพฐ. เชื่อมั่นว่านักเรียนทุนโคเซ็นฯ เหล่านี้เมื่อสำเร็จการศึกษาจากสถาบันโคเซ็นประเทศญี่ปุ่น จะกลับมาปฏิบัติงานในประเทศไทยและจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยด้านวิศวกรรมศาสตร์ การพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจ และสร้างคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติบ้านเมืองต่อไปในอนาคต รวมทั้งต้องขอบคุณคณะกรรมการบริหารโครงการทุนการศึกษาฯ สำนักผู้ดูแลนักเรียนในประเทศญี่ปุ่น สำนักงาน ก.พ. และผู้บริหารสถาบันโคเซ็นประเทศญี่ปุ่น ที่ดูแลนักเรียนและช่วยเหลือ สนับสนุนในทุกโอกาสเพื่อให้นักเรียนไม่มีคำว่าโดดเดี่ยวในต่างแดน และมีพี่ เพื่อน ครอบครัวร่วมเป็นกำลังใจให้นักเรียนก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ นำไปสู่ความสำเร็จได้เป็นอย่างดี สร้างความภูมิใจให้ทุกคนบนความสุขด้วยกัน” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว 

ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการทุนการศึกษาฯ ครั้งนี้ มีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่มาร่วมประกอบด้วย ผู้แทนคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ผู้แทนสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะกรรมการพัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ประธานกลุ่มผู้อำนวยการโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย คณะกรรมการพัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย สำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา โดยมีวาระที่สำคัญคือการติดตามผลการเรียนของนักเรียนทั้ง 22 คน และการสอบเข้าศึกษาต่อในหลักสูตร Advanced Course ซึ่งผลการศึกษาของนักเรียนทุนในภาคเรียนที่ผ่านมาพบว่านักเรียนที่มีผลการเรียนโดดเด่น อยู่ในลำดับที่ 1-10 ของชั้นเรียน หรือได้คะแนนมากกว่าร้อยละ 90 จำนวน 8 ราย อาทิ สอบได้ที่ 1 ของ Sendai KOSEN สอบได้ที่ 1 ของ Ibaraki KOSEN เป็นต้น