สพฐ. จับมือ 9 เขตพื้นที่ ร่วมกับ วช. หนุนเด็กเกือบ 20,000 คน สร้างโอกาส เสริมแรงบันดาลใจกับสิ่งประดิษฐ์กว่า 1,000 ชิ้น ในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2566

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ร่วมเสวนาหัวข้อ “ปั้นเด็กไทยในยุคดิจิทัล” ในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2566 (Thailand Inventors’ Day 2023) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ และ ศาสตราจารย์ ดร. ผดุงศักดิ์  รัตนเดโช ร่วมเสวนา และมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) นำนักเรียนจากโรงเรียนในสังกัดเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 9 เขตฯ ได้แก่ สพม.กท.1 สพม.กท.2 สพม.สมุทรปราการ สพม.ยะลา สพม.ปทุมธานี สพม.นนทบุรี สพม.กาญจนบุรี สพม.นครปฐม และสพม.สุพรรณบุรี และมีจำนวนนักเรียนเข้าร่วมงาน รวมทั้งสิ้น 18,700 คน

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวภายหลังว่า รู้สึกชื่นชมและขอบคุณที่เป็นเวทีนำเสนอผลงานสิ่งประดิษฐ์มากกว่า 1,000 ชิ้น และเป็นโอกาสที่ดี ที่ได้เห็นความสามารถที่หลากหลายของนักเรียน ไม่ใช่แค่ทางด้านวิชาการ แต่ยังรวมถึงด้านศิลปะ หัตถกรรม ดนตรีและทักษะต่าง ๆ ที่จะทำให้เกิดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมขึ้นมาได้ ทั้งยังเป็นโอกาสที่จะทำให้นักเรียนได้มองเห็นถึงความถนัด ความสามารถของตนเอง เกิดเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้สามารถมาอยู่จุดที่น่าภาคภูมิใจในฐานะนักประดิษฐ์ อีกทั้งเป็นกิจกรรมที่แสดงให้เห็นถึงการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เรียนรู้อย่างมีความสุข มีความหลากหลายของตัวอย่าง และได้เห็นของจริง จากการลงมือปฏิบัติ ซึ่งนักเรียนสามารถเลือกสิ่งที่ตนเองถนัดและสนใจแล้วนำไปต่อยอดได้ รวมทั้งได้ช่องทางหรือเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ที่ทำให้นักเรียนไปสู่จุดที่เป็นนวัตกร ในโอกาสนี้ต้องขอบคุณ วช. อว. และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ในการยกระดับ ส่งเสริม สนับสนุน เปิดโอกาส สร้างเวทีให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และสร้างเวทีแสดงความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และเป็นองค์รวมของหลายวิชา ซึ่งมีความสำคัญในยุคปัจจุบันและอนาคต เพราะการนำความรู้เหล่านี้มาต่อยอดเพื่อเกิดประโยชน์ คือพลังขับเคลื่อนเราไปสู่อนาคตต่อไป

“ทั้งนี้ ขอฝากว่าการพัฒนานักเรียนในยุคดิจิทัลเป็นความท้าทายของคนในวงการศึกษาที่ต้องร่วมมือ ผนึกกำลัง เติมเต็มศักยภาพนักเรียนให้เข้ากับยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ขอใช้โอกาสแห่งความท้าทายนี้เป็นพลังการขับเคลื่อนที่ไม่หยุดนิ่งเพื่อคุณภาพนักเรียนของเราต่อไป โดย สพฐ. มุ่งหวังให้เวทีนี้เป็นเวทีและโอกาสในการสร้างแรงบันดาลใจ และหวังว่าในปีหน้า จะมี Hall ของสพฐ. ในการที่จะแสดงนวัตกรรมที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่นำไปใช้ได้ ซึ่งตอบโจทย์ชุมชนและสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นตราสินค้าของคนไทยเอง คิดค้นโดยเด็กไทย โดยไม่สำคัญว่าอายุเท่าไร แต่ให้ความสำคัญแก่ความสามารถที่จะสร้างนวัตกรรมซึ่งเกิดจากความถนัด ความสนใจ สิ่งนี้เป็นภาพความสำเร็จที่อยากจะให้เกิดขึ้นกับเด็กไทยในทุก ๆ ด้าน ไม่จำเป็นต้องเรียนเก่งอย่างเดียว แต่สามารถสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ที่ใช้ประโยชน์ในสังคมได้” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ทางด้านครูและนักเรียนที่มาร่วมกิจกรรม ได้แสดงความรู้สึกหลังเข้าร่วมการแข่งขันสิ่งประดิษฐ์ อาทิ ครูเกศกาญจน์ ทองจันทร์แก้ว จากโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย สพม.สงขลา สตูล ที่ร่วมส่งสิ่งประดิษฐ์ “อุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง” กล่าวว่า ขอบคุณที่เปิดเวทีให้นักเรียนจากทั่วประเทศได้มีโอกาสนำผลงานมาแสดงและเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และขอบคุณ สพฐ. ที่ได้สนับสนุนส่งเสริมแนวคิดการจัดการเรียนรู้ การเป็นนวัตกรของชาติ เพราะการที่เด็กจะมาถึงวันนี้ได้ต้องมาจากการฝึกฝนทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ขณะที่นายวงศพัทธ์ อภิวัฒน์กิจธนา นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ได้ขอบคุณผู้จัดงานซึ่งเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักเรียนที่จะก้าวเป็นนักวิทยาศาสตร์และนวัตกรของประเทศ เปิดโอกาสให้นักเรียนนำผลงานมาแสดงและได้เข้าถึงวิทยาศาสตร์มากขึ้นทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ

ทางด้านครูสาแลฮะ ดีซะเอ๊ะ จากโรงเรียนคณะราษฎรบำรุง สพม.ยะลา ซึ่งเข้าชมกิจกรรมและบูธสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากๆ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้นักเรียนได้มาเห็นไอเดียใหม่ๆ และต่อยอดในการทำโครงงานของเขา รู้สึกว่านักเรียนได้รับประโยชน์จากกิจกรรมนี้มาก คุ้มค่าจริงๆ เพราะนักเรียนชอบ และมีแรงบันดาลใจต่อยอดอีกหลายโครงงานในใจที่คิดจะทำ เช่นเดียวกับนางสาวธมนวรรณ์ หมื่นผ่อง นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง บอกว่าตนเองชอบมาก สนุก รู้สึกว่าได้ไอเดียใหม่ๆ กลับไปเยอะ และจะนำแนวคิดของโครงงานที่ได้ไปชม เอามาปรับใช้กับโครงงานของตนเองให้ดีขึ้น และปีหน้าจะส่งโครงงานเข้าร่วมแข่งขันในงานนี้แน่นอน

สำหรับงาน “วันนักประดิษฐ์” จัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่ทรงประดิษฐ์คิดค้น “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” และทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536 และเพื่อระลึกถึงวันประวัติศาสตร์การจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรแด่พระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลก และทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2537 กำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันนักประดิษฐ์

โดยในปี 2566 นี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน พร้อมภาคีเครือข่าย ในการร่วมกันจัดงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2566 เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของไทย เป็นเวทีสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาและสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม พร้อมเป็นกลไกในการส่งเสริม ขยายผล และนำผลงานไปใช้ประโยชน์ ซึ่งในปีนี้มีแนวคิดในการจัดงาน คือ “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม” โดยมีเป้าหมายเพื่อเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย รวมถึงเป็นเวทีระดับชาติและนานาชาติในการแลกเปลี่ยน เผยแพร่ ถ่ายทอดเทคโนโลยีและการขยายผลสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสู่กลุ่มผู้ใช้ เป็นกลไกในการสร้างแรงบันดาลใจแก่นักประดิษฐ์ไทยในการพัฒนาผลงานประดิษฐ์คิดค้นให้มีประสิทธิภาพสูง พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนในการประดิษฐ์คิดค้น และมีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ร่วมกันระหว่างนักประดิษฐ์ไทยกับนานาชาติ