สพฐ. เดินหน้าพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่การต่อยอดเยาวชนไทยในศตวรรษที่ 21

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่การต่อยอดเยาวชนไทยในศตวรรษที่ 21 ประจำปี 2566 ขึ้น โดยการอบรมครั้งนี้แบ่งออกเป็น 4 ภูมิภาค ได้แก่จุดภาคกลางและตะวันออก ณ โรงแรมเอวาน่า กรุงเทพมหานคร ภาคใต้ โรงแรมไดมอนด์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภาคเหนือ โรงแรมคุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ และจุดสุดท้าย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โรงแรมเจริญธานี จังหวัดขอนแก่น โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) ต้องการพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ และกระบวนการคิดให้แก่ศึกษานิเทศก์ ครูและบุคลากรทางการศึกษา ในรูปแบบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงบูรณาการระหว่างโครงการย่อย จำนวน 3 โครงการ ได้แก่โครงการย่อยที่ 1 โครงการพัฒนานวัตกรรมการยกระดับศักยภาพผู้เรียนสู่สากล (iConnect OBEC Scholarships) เป็นการพัฒนาครูภาษาอังกฤษ ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สพฐ. กับ CATS Global Schools โครงการย่อยที่ 2 โครงการความร่วมมือทางการศึกษา “1 + 2 + 1” เป็นการพัฒนาครูภาษาจีน ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สพฐ. มหาวิทยาลัยสวนดุสิตและมหาวิทยาลัยกวางสี สาธารณรัฐประชาชนจีน และโครงการย่อยที่ 3 โครงการพัฒนาเครือข่ายองค์กรแห่งการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์สู่การต่อยอดระดับสากล (STEAMs Co-Creation Projects) ซึ่งเป็นการพัฒนาครูวิทยาศาสตร์ ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สพฐ. กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา เปิดเผยว่า “กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินงานตามยุทธศาสตร์และแผนการศึกษาชาติเรื่องการส่งเสริมและสนับสนุนเยาวชนมีความเป็นเลิศในด้านต่างๆ ให้ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ ตามศักยภาพ และความถนัดของแต่ละบุคคล โดย ดร. อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มอบหมายให้มาพบปะกับผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ และคณะครูผู้ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่การต่อยอดเยาวชนไทยในศตวรรษที่ 21 ประจำปี 2566 จุดภาคเหนือ ณ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่ง สพฐ. และองค์กรแห่งการเรียนรู้เครือข่ายทุกแห่งที่เข้าร่วมโครงการ มีความคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ศึกษานิเทศก์ ครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ผ่านการอบรมจะนำความรู้ ทักษะ และกระบวนการคิด ที่ได้รับ กลับไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาตนเองและโรงเรียนในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อการต่อยอดนักเรียนให้เต็มที่ตามศักยภาพและความต้องการที่หลากหลาย อันนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ และการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป”

ภาพ/ข่าว : ทีมประชาสัมพันธ์เฉพาะกิจ