วันที่ 16 มีนาคม 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมนำเสนอผลการปฏิบัติงานของศูนย์การศึกษาพิเศษที่มีผลต่อการลดลงของเด็กที่มีความเสี่ยงต่อความบกพร่องทางการเรียนรู้ โดยมี ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดระนอง แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ สุพรรณบุรี ศรีษะเกษ ปัตตานี และคณะทำงานของสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ร่วมกับคณะทำงานรองเลขาธิการ กพฐ. (นางเกศทิพย์ ศุภวานิช) รวม 16 คน เข้าร่วมประชุม
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ เพื่อให้นำเสนอแนวทางกระบวนการการพัฒนา ในการประเมินและคัดกรองนักเรียนที่มีความเสี่ยง พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือเพื่อลดจำนวนเด็กที่มีความเสี่ยงต่อความบกพร่องทางการเรียนรู้ ซึ่งแต่ละศูนย์ฯ มีกระบวนการที่หลากหลายตามบริบทของพื้นที่ อาทิ ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดระนอง และศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้นำเสนอจำนวนเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ในปี 2565 มียอดจำนวนเด็กเสี่ยงที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ลดลง จำนวน 50 คน โดยในปี 2564 มียอดจำนวนเด็กเสี่ยงที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ จำนวน 1,557 คน และในปี 2565 ลดลงเหลือ 1,502 คน ด้วย 5 ยุทธศาสตร์ การพัฒนาครูในการคัดกรองที่แม่นยำ การพัฒนาเทคโนโลยี สื่อ และสิ่งอำนวยความสะดวกในการคัดกรอง และพัฒนานักเรียน มีการจัดค่ายพัฒนาครูและนักเรียน การสร้างการมีส่วนร่วมของผู้บริหาร ครู และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงการต่อยอดพัฒนาจากแผน IEP ด้วยหลักสูตรอาชีพเด็กพิเศษ และการจัดบริการเปลี่ยนผ่าน สู่การพัฒนาช่วยเหลือเด็กอย่างรอบด้าน
ทางด้านศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในปี 2565 มียอดจำนวนเด็กเสี่ยงที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ลดลง จำนวน 133 คน โดยในปี 2564 มียอดจำนวนเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ จำนวน 2,611 คน และในปี 2565 ลดลงเหลือ 2,478 คน โดยมีการประเมินเพื่อให้เห็นถึงแนวทางในการช่วยเหลือในขั้นต้น แล้วมีการดำเนินการประเมินด้วยรูปแบบของกระบวนการคัดกรองที่ชัดเจนอีกครั้งในระดับชั้นต่อไปอย่างต่อเนื่องและจัดกิจกรรมเสริมพัฒนาการเพื่อเพิ่มประสบการณ์การเรียนรู้ตามความขาดเป็นรายบุคคลตั้งแต่เริ่มเข้าเรียน ขณะที่ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดศรีสะเกษ นำเสนอจำนวนเด็กพิเศษ ในโปรแกรม Set และ IEP online มีการลดลงเมื่อเทียบจากปี 2564 และปี 2565 มีจำนวนลดลง 1,885 คน โดยในปี 2564 มีจำนวน 16,962 คน และในปี 2565 มีจำนวนลดลง 15,041 คน ส่วน IEP online ที่ลดลง เพราะมีการตรวจแผน IEP โดยการตั้งกรรมการตรวจสอบ ประกอบด้วย ศูนย์/ศึกษานิเทศก์/ครูในโรงเรียน ตรวจสอบโดยการจัดทำแบบตรวจสอบโดยอนุมัติ แผนที่สอดคล้องกันตามองค์ประกอบและสมบูรณ์ที่สุด และตามงบประมาณ เพื่อกระจายให้เด็กได้รับอย่างทั่วถึงทุกคน
ทั้งนี้ การนำเสนอของแต่ละศูนย์ฯ สามารถเป็นแนวทางและแบบอย่างของการดูแลช่วยเหลือเด็กได้อย่างเป็นรูปธรรม และควรมีการนำเสนอและติดตามเด็กที่มีความเสี่ยงในการบกพร่อง โดยข้อมูลจำนวนเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ไม่ควรเป็นยอดสะสมในแต่ละปีการศึกษา แต่ควรเป็นยอดจำนวนจริงของเด็กแต่ละระดับชั้น โดยแยกเด็กเข้าใหม่ออกจากเด็กที่ได้รับการพัฒนาแล้ว พร้อมทั้งควรมีการพัฒนาครูให้มีองค์ความรู้ และสร้างเจตคติที่ดีในการพัฒนาเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ และมีความสามารถในการประเมินและคัดกรองเด็กได้อย่างถูกต้อง ควรมีการสร้างวัฒนธรรมที่ดีในองค์กร ในเรื่องของการเติมความรัก ความเข้าใจของครูที่ดูแลเด็ก รวมถึงพิจารณากิจกรรมที่ใช้ในการพัฒนาเด็กที่ได้รับการประเมินและคัดกรองว่าเป็นเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ว่ามีกิจกรรมใดบ้างที่นำมาใช้แล้วจะทำให้เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้เทียม สามารถพัฒนาจนนำไปสู่เด็กปกติ
“จากภาพความสำเร็จในการดำเนินงานปีที่ผ่านมา ต้องขอชื่นชมสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ. ที่มุ่งเน้นในการพัฒาต่อยอด ช่วยเหลือนักเรียนที่มีความเสี่ยงด้วยวิธีการที่หลากหลาย กลายเป็นนวัตกรรมเชิงพื้นที่ ที่สามารถดูแลนักเรียนได้อย่างทั่วถึงตามบริบทของโรงเรียน รวมถึงเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษาธิการจังหวัด รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ ที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เพื่อพัฒนาเยาวชนไทยให้เป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคตต่อไป ได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
- สพฐ. ประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนภาษาจีน และกรอบเนื้อหาแบบเรียนภาษาจีน สำหรับโรงเรียนในสังกัด สพฐ. - 7 ตุลาคม 2024
- เลขาธิการ กพฐ. “ธนุ” ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสภาพอาคารเรียนภายหลังน้ำลด ณ โรงเรียนชุมชนบ้านไม้ลุงขน มิตรภาพที่ 169 จังหวัดเชียงราย - 6 ตุลาคม 2024
- ผอ.สวก.สพฐ. “วิษณุ” เปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปีและการประชุมทางวิชาการในหัวข้อ “การศึกษาไทยก้าวไกลสู่ทศวรรษหน้า” - 5 ตุลาคม 2024