สศศ. เข้ม พัฒนาผู้บริหาร เน้นเป้าหมายคุณภาพผู้เรียนรายบุคคล

วันที่ 20 มีนาคม 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “การจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ต่อยอดการพัฒนาผู้เรียน” ให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ จำนวน 180 แห่ง ในการประชุมผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ. โดยมีนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วย นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ รวมถึงผู้บริหารในสังกัด สศศ. ได้แก่ ผอ.ศูนย์การศึกษาพิเศษ ผอ.โรงเรียนการศึกษาพิเศษ และผอ.โรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์ และคณะทำงานจาก สศศ. สพฐ. เข้าร่วมกว่า 200 คน ณ โรงแรมรอยัล ชิตี้ บางพลัด กรุงเทพมหานคร

โดยรองเลขาธิการ กพฐ. ได้บรรยายพิเศษใน 3 หัวข้อที่น่าสนใจ ประกอบด้วย KPI และเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาผู้เรียน เทคนิคและการต่อยอด AL สู่การเรียนการสอนทั้งในและนอกห้องเรียน และตัวอย่างการต่อยอด Active Learning สู่การพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ ซึ่งมีการพูดถึง KPI ในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนของ สพฐ. การรวมครูเพื่อนักเรียน ด้วยกระบวนการ PLC สู่การแก้ปัญหาหรือส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา และต่อยอด รวมถึงการบูรณาการแหล่งเรียนรู้ท้องถิ่นและประวัติศาสตร์กับหลักสูตรสถานศึกษา โมเดลการพัฒนาการเรียนรู้เชิงรุกแบบต่างๆ อัจฉริยะเกษตรประณีต การส่งเสริม ต่อยอดนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ และรูปแบบการช่วยเหลือนักเรียนที่มีภาวะเสี่ยงต่อพัฒนาทางการเรียน 3 ระยะ เป็นต้น

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ เพื่อให้ผู้บริหารสถานศึกษา ได้รับทราบนโยบายการขับเคลื่อนการบริหารสถานศึกษา สู่ความสำเร็จตามบริบทพื้นที่ โดยมุ่งเน้นการใช้พื้นที่เป็นฐานนวัตกรรมในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเชิงรุก Active Learning โดยขอฝากในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพนักเรียน ต้องให้ความสำคัญกับการบ่มเพาะคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญยิ่งของเป้าหมายการศึกษาชาติ ผ่านการจัดกิจกรรมบูรณาการการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนได้เข้าถึงองค์ความรู้ได้อย่างมีความหมาย สนุกกับการเรียนรู้ และต้องน้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษา 4 ประการ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ลงสู่การปฏิบัติให้กับนักเรียนทุกคนซึ่งเป็นแก่นหลักของการพัฒนาคน รวมทั้งเสริมการขับเคลื่อนด้วยนโยบายของ รมว.ศธ. และ KPI ของ เลขาธิการ กพฐ. ซึ่งนักเรียนในสังกัด สศศ. มีความหลากหลาย มีบริบทและความพร้อมที่แตกต่างกัน ดังนั้น KPI ของนักเรียนแต่ละกลุ่ม แต่ละคนจึงแตกต่างกันออกไป จึงควรจะเติมและดึงศักยภาพของนักเรียนตามความสามารถ ความถนัด และความสนใจ เป็นสำคัญ

ในส่วนของบันทึกหลังสอน ควรเน้นการวิเคราะห์นักเรียนเป็นรายบุคคล เพื่อเติมเต็มให้นักเรียนที่เรียนไม่ทันเพื่อนในเรื่องที่สอนในแต่ละคาบ ทำ PLC แก้ไขปัญหาการเรียนรู้กับนักเรียนร่วมกับครูท่านอื่น เพื่อเป็นการรวมครูเพื่อนักเรียน แล้วรายงานผลการดำเนินการอย่างง่ายด้วย Abstract 1 หน้า และปลดรั้วโรงเรียน ร่วม PLC แบ่งปันสิ่งดี และหนุนเสริมความเข้มแข็งจาก ศน. เข้ามาช่วยเติมเต็ม พร้อมทั้งมุ่งเน้นให้นักเรียนของการศึกษาพิเศษมีทักษะชีวิต ทักษะอาชีพที่หลากหลาย เพราะแต่ละพื้นที่มีบริบทที่แตกต่างกันออกไป จึงควรให้โอกาส เปิดเวที สร้างประสบการณ์แก่นักเรียนให้ตรงกับความถนัด ความสนใจ โดยมีโรงเรียนทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุนอย่างเต็มที่ และนักเรียนจะเป็นผู้กำหนดหรือเลือกอาชีพด้วยตัวเอง และสามารถช่วยเหลือครอบครัวได้ นอกจากนั้น ผู้บริหารสถานศึกษาคือฟันเฟืองที่สำคัญในการพัฒนาคุณภาพของการศึกษา เพราะต้องเป็นผู้ที่นำให้คิด พาให้ทำ ผู้บริหารยุคใหม่ต้องเป็นผู้นำทางวิชาการ ต้องศึกษาพัฒนาให้รู้จริง สามารถแนะนำในสิ่งที่ถูกต้องได้ อธิบายให้ความรู้อย่างชัดเจน ต้องชี้ให้ถูกทาง และต้องสร้างเครือข่ายให้หลากหลาย ทั้งชุมชน ผู้ปกครอง วัด และหน่วยงานจากภายนอก เพื่อสร้างโอกาสให้นักเรียนในทุกๆ ช่องทาง ทุกๆ มิติ เพราะ “การสร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาให้เกิดขึ้น คือ การสร้างคุณภาพให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน”

“จากการลงพื้นที่เยี่ยมโรงเรียน การดำเนินงานของศูนย์การศึกษาพิเศษ และจากผลงานของนักเรียน ในโรงเรียนสังกัด สศศ. มีตัวอย่างโรงเรียนที่น่าชื่นชมมากมาย ทำให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของโรงเรียน ผู้บริหารสถานศึกษา ครู รวมถึงผู้ปกครองและชุมชนได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นผลจากการขับเคลื่อนตามนโยบายที่ขันแข็งของ สศศ. ดิฉันเชื่อในความเป็นการศึกษาพิเศษไทย หัวใจนำทาง นำไปสู่ความทุ่มเทเสียสละ พัฒนานักเรียนด้วยใจเป็นรายบุคคล และร่วมกันดึงศักยภาพนักเรียน ให้ดูแลตนเองได้สมบูรณ์ทั้งใจและกายที่นำพาตนเองไปสู่จุดที่ดูแลครอบครัวได้ ต้องขอบคุณทุกคนที่ทำให้ได้เห็นภาพความสำเร็จนี้ในการศึกษาพิเศษ เรามาร่วมกันทำให้เกิดขึ้นทุกที่ในประเทศไทยกันค่ะ” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว