สพฐ. ติวเข้มผู้บริหารขับเคลื่อนการบริหารงานบุคคลกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณฯ สร้างเด็กไทยศักยภาพสูง

วันที่ 28 มีนาคม 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เปิดการประชุมและบรรยายพิเศษในการประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ณ โรงแรม แรมแบรนดท์ สุขุมวิท กรุงเทพมหานคร โดยการจัดงานครั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจการบริหารงานบุคคลของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ให้กับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารงานบุคคลของ สพม. ที่มีโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยสังกัด รวมถึงคณะกรรมการกลั่นกรองการย้ายที่คณะกรรมการพัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยมอบหมาย และผู้บริหารโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ทั่วประเทศกว่า 100 คน ซึ่งบุคคลเหล่านี้เป็นผู้ที่มีความสำคัญในการสรรหาคัดเลือกผู้ที่จะมาปฏิบัติงานในโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ทั่วประเทศ

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เป็นโรงเรียนที่มีภารกิจสำคัญในการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีศักยภาพและความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต ดังนั้น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จึงจำเป็นต้องสนับสนุนการสรรหา คัดเลือกและสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของโรงเรียน ผู้บริหาร ครู และบุคลากร ที่จะทำให้การจัดการเรียนการสอนนักเรียนประสบความสำเร็จครบทุกมิติได้ตามเป้าหมายตามอุดมการณ์โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ส่วนหลักเกณฑ์และวิธีการต่างๆ ที่ ก.ค.ศ. กำหนดใช้คัดเลือกบุคลากรเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญตามมติคณะรัฐมนตรีทั้งในด้านการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษที่มีศักยภาพสูง และการบริการวิชาการให้กับโรงเรียนทั่วไปในเขตพื้นที่บริการ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ให้ได้มากที่สุด

นางเกศทิพย์ กล่าวต่อไปว่า ด้วยเหตุนี้ภาระหน้าที่ในการคัดสรรบุคลากรเข้ามาปฏิบัติงานในโรงเรียนฯ จึงจำเป็นต้องคัดสรรคนมีศักยภาพ ทัศนคติที่ดี ปฏิบัติดีเป็นตัวอย่างได้ มีความรู้ความสามารถดีเยี่ยม เพื่อให้เป็นผู้นำพาคิด พาทำ พาขับเคลื่อนร่วมกันทั้งโรงเรียน และมีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ในการขับเคลื่อนคุณภาพเป็นไปตามเจตนารมณ์ เป้าหมาย และอุดมการณ์ในการจัดการศึกษาของโรงเรียนฯ ตามที่มติคณะรัฐมนตรีกำหนดไว้ ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาความสำเร็จของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยที่เกิดขึ้นและน่าชื่นชมในหลายมิติ ทั้งผลการสอบ PISA ผลงานรางวัลโครงงาน นวัตกรรมในเวทีนานาชาติ รวมทั้งการจัดกิจกรรมบ่มเพาะนักเรียนในมิติต่างๆ ที่ทำให้เป็นนักเรียนที่ดี เก่ง มีความสุข มีความพร้อมไปศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา มีความเป็นนักวิจัย นักประดิษฐ์ นักคิดค้นนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี มีความสามารถในระดับเดียวกันกับนักวิจัยชั้นนําของนานาชาติ แต่โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ก็ยังต้องการบุคลากรที่มีศักยภาพมาช่วยขับเคลื่อนภารกิจต่างๆ ให้เกิดผลสำเร็จขั้นสูงต่อไป

“การจัดงานครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน จึงขอถือโอกาสนี้ขอบคุณ ดร.ธงชัย ชิวปรีชา และ ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร ผู้ทรงคุณวุฒิที่ปรึกษาคณะกรรมการพัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ที่ได้สละเวลามาเป็นวิทยากร รวมทั้งสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ สำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยทุกแห่ง ที่ร่วมกันขับเคลื่อนการบ่มเพาะ ปลูกฝังจิตวิญญาณของนักเรียนให้เกิดความมุ่งมั่นในการพัฒนาประเทศชาติ มีเจตคติที่ดีต่อเพื่อนร่วมโลกและธรรมชาติ และสร้างองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ประเทศชาติสามารถแข่งขันได้ในประชาคมโลก ซึ่งจะทำให้เกิดสังคมผู้ผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ทั้งสังคมแห่งการเรียนรู้ สังคมแห่งคุณภาพและแข่งขันได้ และสังคมที่ยั่งยืนพอเพียงมีความสมานฉันท์เอื้ออาทรต่อกันต่อไป รวมทั้งเพื่อรองรับการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นที่สามารถทำให้นักเรียนที่จบจากโรงเรียนสามารถเข้าการศึกษาในระดับปริญญาตรีที่รองรับความหลากหลายและทันสมัยอย่างเช่น  มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้จัดทำโครงการสร้างหลักสูตรร่วม 2 หลักสูตร พ.บ.-วศ.ม. (วิศวกรรมชีวภาพแพทย์) เพื่อให้แพทย์ มีความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ สามารถประยุกต์ใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ และมีคุณสมบัติของการเป็นนักวิจัยและนวัตกร ซึ่งอนาคตของนักเรียนจะสามารถมีความหลากหลายของอาชีพได้ จึงจำเป็นต้องเตรียมทุกทักษะให้กับนักเรียนเพื่อเป็นผู้นำที่ดีในสังคมได้อย่างยั่งยืนและมีความสุขต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว