สพฐ. ชูโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยพี่เลี้ยง ขยายเพิ่มอีก 6 แห่ง กระจายคุณภาพสร้างโอกาสทั่วไทย

วันที่ 25 พฤษภาคม 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ได้รับมอบหมายจากนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย (รร.จภ.) ครั้งที่ 2/2566 ผ่านระบบออนไลน์ (Google Meet) และรูปแบบ Onsite ณ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง โดยมีผู้เข้าประชุมประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิที่ปรึกษา ได้แก่ รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ, ดร.โกศล เพ็ชร์สุวรรณ์, ดร.ธงชัย ชิวปรีชา, ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร, รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล รวมถึงกรรมการ ได้แก่ ผู้อำนวยการ สวทช., ผู้อำนวยการ สสวท., ผู้อำนวยการโรงเรียนกำเนิดวิทย์, ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ, ผู้แทนเลขาธิการ ก.ค.ศ., ผู้แทนประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย, ผู้แทนผู้อำนวยการ สอวช., ผู้แทนผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และประธานกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้

โดยนางเกศทิพย์ ศุภวานิช ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบความก้าวหน้าของกรอบอัตรากำลังในการยกระดับสำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษาเป็นหน่วยงานการศึกษา ซึ่งในขณะนี้มีแนวทางในการเพิ่มกรอบอัตรากำลังและอยู่ระหว่างการประสานงานกับสำนักงาน ก.ค.ศ. รวมทั้งเรื่องการขอความอนุเคราะห์ รร.จภ. ในการบริการวิชาการเรื่องการตรวจคุณภาพน้ำของโรงเรียนประถมในเขตพื้นที่บริการของ รร.จภ. ซึ่งในการประชุมวันนี้ มีประเด็นสำคัญที่น่าสนใจหลายด้าน อาทิ การรายงานผลการรับนักเรียนเข้าเรียน ปีการศึกษา 2566 การศึกษาต่อระดับ Advanced Course ของนักเรียนทุนโครงการ ทุนศึกษาต่อสำหรับนักเรียน รร.จภ. รุ่นที่ 1 รายงานผลการศึกษาของนักเรียนผู้รับทุนไปศึกษาต่อ ณ สถาบัน KOSEN ประเทศญี่ปุ่น รุ่นที่ 1-5 และผลการคัดเลือกนักเรียนทุน รุ่นที่ 6 รายงานการใช้งบประมาณ ปีงบประมาณ 2565 การจัดตั้ง รร.จภ. 6 แห่ง การรับนักเรียนเข้าเรียน รร.จภ. ปีการศึกษา 2567 การปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตร รร.จภ. ปีการศึกษา 2566 การปรับปรุงโครงสร้างการบริหาร รร.จภ. และการเตรียมความพร้อมการจัดงานประชุมวิชาการ Thailand – Japan Student Science Fair 2023 (TJ – SSF 2023) เป็นต้น

นางเกศทิพย์ กล่าวต่อไปว่า จากการติดตามการดำเนินการของ รร.จภ. สิ่งที่ชื่นชม คือ ผลการพัฒนาคุณภาพของ รร.จภ. มีความก้าวหน้าและพัฒนาการในมิติด้านต่างๆ ด้วยผลงานเชิงประจักษ์ทั้งในระดับชาติและนานาชาติของนักเรียน ครู และผู้บริหาร โดยสัดส่วนการแข่งขันในการรับเข้าเรียนชั้น ม.1 คือ 1:15 และในชั้น ม.4 คือ 1:6 ซึ่งมีสัดส่วนการแข่งขันที่สูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา ทางด้านผลสำเร็จของการพัฒนาในช่วงที่ผ่านมา ขอยกตัวอย่าง รร.จภ.พิษณุโลก ได้รับการประกาศอนุสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐิ์ เครื่องคัดแยกขนาดมะนาว เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ขณะที่ รร.จภ.ปทุมธานี ได้รับรางวัล 2nd Place Grand Award พร้อมเงินรางวัล 2,000 USD จากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมสำหรับเยาวชน ระดับโลก REGENERON ISEF 2023 ณ เมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ในระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม 2566 จากโครงงาน A Novel Seed Delivery System for Effective Reforestation (การพัฒนานวัตกรรมซ่อมแซมป่าหลังเกิดไฟป่าเลียนแบบโครงสร้างของผลน้อยหน่าเครือ (Kadsura coccinea) และ รร.จภ.ตรัง ได้รับรางวัลเหรียญทอง The 48th International Exhibition of Inventions Geneva รางวัล special award จาก Research Institute of Creative Education จากโครงงาน A self-care monitoring and analysis system for heart disease patient using deep leaning technology และแสดงความยินดีกับนางกนกรัตน์ สิงห์นุ้ย ครู รร.จภ.นครศรีธรรมราช ที่ได้รับรางวัล “ครูยิ่งคุณ” จากมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีจากการเสนอชื่อโดยสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ แสดงให้เห็นถึงผลงานเชิงประจักษ์สมควรได้รับการยกย่องและเป็นแบบอย่างที่ดีให้โรงเรียนอื่นๆ ด้วย จากผลงาน และผลการดำเนินการที่ผ่านมาของ รร.จภ. ทำให้เห็นถึงศักยภาพของครู ผู้บริหาร และคุณภาพของผู้เรียน พร้อมที่จะเป็นพี่เลี้ยงในการต่อยอดคุณภาพให้กับอีก 6 รร.จภ. ที่กำลังจะจัดตั้งในอนาคตได้อย่างเข้มแข็ง

“ทั้งนี้ ได้ฝากในเรื่องของการประชาสัมพันธ์เปิดบ้าน รร.จภ. Open House หรือการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้โรงเรียนในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทยได้เข้าถึงข้อมูลการจัดการศึกษา การรับสมัครเข้าเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 โดยเฉพาะจังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดสมุทรสาคร ควรมีการวิเคราะห์เปรียบเทียบเก็บข้อมูลย้อนหลังเพื่อหาแนวทางแก้ไข รวมถึงการติดตามนักเรียนทุน KOSEN ทั้งในเรื่องของการทำงานในอนาคต สาขาวิชาที่สอดคล้องกับแผนการพัฒนาประเทศ และการขอต่อโครงการทุนการศึกษาในระยะต่อไป พร้อมกันนี้ ขอฝากผู้อำนวยการโรงเรียนในเรื่องการติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณหมวดต่าง ๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดและงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุน และดำเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิที่ปรึกษาและกรรมการเพื่อการพัฒนาโรงเรียนในด้านต่าง ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว