สพฐ. ถอดความสำเร็จความร่วมมือเครือข่าย ผู้ปกครองและโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดยกระดับคุณภาพปฐมวัย

วันที่ 29 พฤษภาคม 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาชุดเอกสารการพัฒนาการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ เพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียนปฐมวัย ผ่านระบบ Zoom Meeting ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ โดยมี ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ ครูผู้สอน และนักวิชาการศึกษา เข้าร่วมการประชุมจำนวน 45 คน

เป็นการประชุมเพื่อพัฒนาชุดการพัฒนาการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียนปฐมวัย โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1) ชุดการถอดบทเรียนแนวปฏิบัติที่ดีของโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด จำนวน 81 แห่ง แบ่งเป็น 5 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย 2. ด้านการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (active learning) 3. ด้านการประเมินพัฒนาการ 4. ด้านเครือข่ายการพัฒนาและการมีส่วนร่วมของพ่อแม่ ผู้ปกครอง 5. ด้านการบริหารจัดการ และ 2) ชุดการพัฒนาการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ตามแนวคิดมอนเตสซอรี

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า การสร้างและพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งครอบครัว สถานศึกษา และการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วย ดังนั้นสถานศึกษาจึงจำเป็นต้องพัฒนาครูให้มีความรู้ความเข้าใจ มีทักษะ และมีความเชี่ยวชาญในด้านหลักสูตร การจัดการเรียนรู้ การบริหารจัดการ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง และการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ตามแนวคิดมอนเตสซอรี เพื่อให้ครูสามารถนำความรู้ไปใช้ในห้องเรียนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และขยายผลสู่พ่อแม่ผู้ปกครองให้เกิดความรู้ความเข้าใจ สามารถนำไปใช้อบรมเลี้ยงดูบุตรหลานได้อย่างถูกต้อง

ขณะที่การนำนโยบายด้านการจัดการศึกษาปฐมวัยไปสู่การปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานระดับพื้นที่ที่มีศักยภาพ มีความเข้มแข็งทางวิชาการ จะเป็นกำลังสำคัญที่จะทำให้นโยบายของ สพฐ. ประสบผลสำเร็จ ต่อยอดการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานที่กำหนดไว้ได้อย่างแท้จริง โดยโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด 81 โรงเรียน ทำหน้าที่เป็นศูนย์วิชาการที่เป็นต้นแบบด้านการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่เด็กปฐมวัย เป็นแหล่งเรียนรู้ให้โรงเรียนอื่นศึกษาดูงานและฝึกอบรม และศูนย์พัฒนาการเรียนรู้ตามแนวคิดมอนเตสซอรี บริบท สพฐ. จำนวน 7 ศูนย์ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ อำนวยความสะดวก อบรมพัฒนาการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ตามแนวคิดมอนเตสซอรีตามบริบทของ สพฐ.

“ทั้งนี้ การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต “เด็กปฐมวัย” โดยใช้โรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดเป็นแกนนำ และการพัฒนาการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เชิงรุก Active Learning ตามแนวคิดมอนเตสซอรี นับเป็นการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่ตรงตามเจตนารมณ์ของนโยบาย สพฐ. ในการยกระดับคุณภาพผู้เรียนปฐมวัย ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยขยายผลการจัดการศึกษาปฐมวัยที่มีความเข้มแข็งและแนวปฏิบัติที่ดีในด้านต่าง ๆ ไปสู่โรงเรียนที่จัดการศึกษาปฐมวัย ได้นำไปเป็นแบบอย่างและปรับประยุกต์ใช้ได้ตามบริบทและความเหมาะสม ดังนั้นการพัฒนาที่จัดทำขึ้นจึงควรมีเนื้อหาสาระที่สร้างความรู้ความเข้าใจอย่างชัดเจนในการนำไปสู่การปฏิบัติให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ ครูผู้สอน และพ่อแม่ ผู้ปกครอง เพื่อให้การนำไปใช้พัฒนาคุณภาพผู้เรียนระดับปฐมวัยประสบผลสำเร็จอย่างสูงสุดต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว