วันที่ 6 มิถุนายน 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการวางแผนขับเคลื่อนการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ (ครั้งที่ 1) ณ โรงแรมเดอะพาลาสโซ กรุงเทพฯ โดยมี นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (ผอ.สศศ.) พร้อมด้วยคณะทำงาน ประกอบด้วย ผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการจัดการศึกษาพิเศษ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษ ศึกษานิเทศก์ ผู้อำนวยการโรงเรียน และครู รวมจำนวนทั้งสิ้น 37 คน เข้าร่วมการประชุม
การประชุมครั้งนี้เป็นการจัดทำแผนขับเคลื่อนการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริม สนับสนุน ให้สถานศึกษาที่จัดการศึกษาเรียนรวมสามารถดำเนินงานได้อย่างเข้มแข็งมีประสิทธิภาพ ต่อเนื่องและเกิดความยั่งยืน พร้อมทั้งจัดทำและปรับปรุงเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ประกอบด้วย การจัดทำเอกสาร “แนวปฏิบัติการจัดการศึกษาเรียนรวมสำหรับสถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา” โดยปรับปรุงเอกสารเป็น “แนวทางการจัดการศึกษาเรียนรวม” และปรับปรุงเอกสาร “แนวทางการวัดและประเมินผลการเรียนรู้สำหรับนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ”
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า สิ่งที่ สศศ. กำลังขับเคลื่อน จะเป็นต้นแบบในการจัดทำคู่มือ การวัดและประเมินผลเป็นรายบุคคลเพื่อดึงศักยภาพของนักเรียน จึงต้องมีการวางแผนที่ดี ปฏิบัติได้จริง และสิ่งที่สำคัญคือสะท้อนผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นการขับเคลื่อนซึ่งทำได้ยากกว่าปกติ เพราะกลุ่มนักเรียนของ สศศ.คือ เด็กพิเศษที่ต้องการการดูแลและเอาใจใส่มากกว่าปกติ เราจึงต้องพิจารณาอย่างรอบด้านว่า “เราจะช่วยเด็กอย่างไร ในการอยู่หรือใช้ชีวิตในสังคมแบบปกติได้อย่างมีความสุข” โดยที่มีภูมิต้านทานจากการถูกบูลลี่ และจะทำอย่างไรให้นักเรียนทุกคนอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีการบูลลี่กัน แต่มีความเห็นอกเห็นใจต่อกัน ซึ่งสิ่งนี้นับเป็นความท้าทายอย่างมาก และที่ต้องชื่นชมอย่างที่สุด คือ ผอ.รร. ครู และบุคลากร ทุกๆ ท่าน ที่ให้เด็กมากกว่าการศึกษา แต่ยังได้ให้โอกาส ความเข้าใจ ความอบอุ่น รวมทั้งให้ความหวังกับผู้ปกครอง โดยมีแรงขับเคลื่อนที่สำคัญคือ “ความรัก และความสามัคคี” ในการพัฒนาเด็กให้ก้าวข้ามความเป็นเด็กพิเศษ นำไปสู่การใช้ชีวิตตามปกติในสังคมได้อย่างมีความสุข
“ทั้งนี้ เราต้องร่วมกันสร้างประสบการณ์ที่ดีในห้องเรียนรวมและส่งเสริมเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษทุกคน โดยไม่เลือกปฏิบัติ ดังนั้นไม่ว่าเด็กจะมีพื้นฐานที่ต่างกันเพียงใดก็ตาม หรือไม่สามารถจัดการตนเองในเบื้องต้นได้ แต่ด้วยความทุ่มเทของครูการศึกษาพิเศษ ขอให้ทุกคนเชื่อมั่นว่า “หากนักเรียนได้รับการส่งเสริมเป็นอย่างดีและถูกต้องในทุกส่วนที่ส่งต่อ เราจะสามารถช่วยพัฒนานักเรียนได้” แล้วเด็กเหล่านี้จะเป็นพลังบริสุทธิ์ที่สร้างกำลังใจให้แก่ทุกคน และยังเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถขับเคลื่อนสังคมในอนาคตให้เป็นสังคมที่ดีขึ้นได้” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
- สพฐ. เดินหน้าเรียนดีมีความสุข ประชุมผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ครั้งที่ 37/2567 - 17 กันยายน 2024
- สพฐ. เร่งสอบข้อเท็จจริง ครูสาวสอบได้ที่ 1 ชื่อหาย ย้ำต้องโปร่งใส ตรงไปตรงมา - 16 กันยายน 2024
- สพฐ. ประชุม ผอ.สพท. ยุคใหม่ เดินหน้าสานต่อ “เรียนดี มีความสุข” - 15 กันยายน 2024