สพฐ. ประชุม ผอ.เขต ทั่วประเทศ เน้นย้ำความปลอดภัย พร้อมดูแลนักเรียนทั่วถึง

วันที่ 14 มิถุนายน 2566 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) มอบนโยบายในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่่การศึกษาทั่วประเทศ ครั้งที่ 3/2566 เพื่อให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ รับทราบนโยบายเร่งด่วน และข้อราชการต่างๆ ที่จะนำไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติในพื้นที่ โดยมี นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นายนายภูธร จันทะหงษ์ ปุญยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. รวมถึงผู้อำนวยการสำนักของ สพฐ. ร่วมชี้แจงข้อราชการที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 245 เขตทั่วประเทศ เข้าร่วมการประชุม ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ และระบบออนไลน์ช่องทาง OBEC Channel

นายอัมพร พินะสา กล่าวว่า ในห้วงเวลาของการเปิดภาคเรียนใหม่ที่ผ่านมานี้ มีหลายประเด็นที่ต้องการสื่อสารกับ ผอ.เขต ทั่วประเทศ ประเด็นที่หนึ่ง คือ ขอให้ ผอ.เขต เอาใจใส่ดูแลในเรื่องการรับเด็กนักเรียนที่ไม่ใช่คนไทย โดยเฉพาะเขตที่อยู่ในพื้นที่รอยตะเข็บชายแดน ต้องใส่ใจระมัดระวังให้รอบคอบ โดยการรับเด็กนั้นทุกคนต้องได้รับการรับรองจากกรมการปกครองว่าเป็นบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างถูกต้อง ถูกกฎหมาย ซึ่งครอบคลุมไปถึงค่ายอพยพต่างๆ เพราะหากเกิดเหตุใดๆ ขึ้นมาอาจกระทบกับกฎหมายความมั่นคงและในด้านอื่นๆ ได้ จึงขอให้มีความระมัดระวังและดูแลอย่างทั่วถึง ประเด็นต่อมาคือเรื่องของการจัดทำข้อมูลโรงเรียน ซึ่งต้องใช้ในการคำนวณอัตรากำลังครู หรือเงินรายหัวต่างๆ ขอให้ ผอ.เขต ตรวจสอบการกรอกข้อมูลนักเรียน การจัดชั้นเรียน ว่าเป็นไปตามเกณฑ์หรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดการคลาดเคลื่อน เมื่อได้ตัวเลขแล้วก็ต้องนำมาวิเคราะห์เกณฑ์อัตรากำลังครู ว่าขนาดโรงเรียนมีการเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ มีขนาดเล็กลงหรือใหญ่ขึ้น เพื่อนำมาวางแผนบริหารจัดการเพื่อให้การจัดการเรียนการสอนดำเนินไปได้ตามปกติ

นอกจากนั้นยังมีประเด็นเรื่องของความปลอดภัยในโรงเรียน โดยที่ผ่านมาพบปัญหาเด็กทะเลาะวิวาทจำนวนมาก จึงขอให้ถอดบทเรียนว่าอะไรคือสาเหตุของปัญหาความขัดแย้ง ความรุนแรงในโรงเรียน หรือปัญหาเรื่องยาเสพติด ซึ่งการดูแลนักเรียนในปัจจุบันนี้แตกต่างจากสมัยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มีความสลับซับซ้อนมากกว่าเดิม จึงต้องเพิ่มความใส่ใจดูแลมากขึ้น แนะนำให้ขอความร่วมมือพ่อแม่ผู้ปกครองเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหาในส่วนนี้ด้วย พร้อมทั้งหาความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเรื่องเพศสภาพ เครื่องแบบนักเรียน หรือระเบียบวินัยต่างๆ ก็ต้องออกแบบวางระบบรองรับ มีการเฝ้าระวังพร้อมกับเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับยุคสมัยด้วย

“อีกประเด็นที่ขอฝากคือเรื่องการเยี่ยมบ้านนักเรียน เนื่องในเดือนแห่งการเยี่ยมบ้านนักเรียนนี้ เราให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับเด็กที่เพิ่งเข้ามาเรียนใหม่ เนื่องจากเรายังไม่รู้ข้อมูลประวัติของเด็ก ดังนั้นการไปเยี่ยมบ้านนักเรียนใหม่ คือเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกเป็นรายบุคคล เพื่อประโยชน์ในการออกแบบการจัดการเรียนการสอนให้กับเด็ก โดยทำการปรึกษาหารือกับผู้ปกครองของเด็กด้วย ส่วนการเยี่ยมบ้านนักเรียนเดิม ให้เน้นการพูดคุยเพื่อต่อยอดพัฒนาเด็กในปีต่อไปให้ดีขึ้นกว่าเดิม ถือเป็นภารกิจที่สำคัญของคุณครู เพราะครูคือคนที่สามารถเข้าถึงนักเรียนได้อย่างแท้จริง ซึ่งตนย้ำอยู่เสมอว่า “การศึกษาคือเครื่องมือเดียวที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตคนได้ จากคนที่ด้อยให้เป็นคนที่ได้ในที่สุด” ถึงเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้หากเรามีความมุ่งมั่นตั้งใจศึกษาเล่าเรียนจนประสบความสำเร็จ ซึ่งในส่วนนี้ก็ต้องอาศัยแรงผลักดันจากคุณครู โรงเรียน และผู้บริหารเขตพื้นที่ ในการร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนไปถึงสมรรถนะที่จำเป็นและพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว