รองเลขาธิการ กพฐ. “ธีร์” บรรยายพิเศษ “การศึกษาเพื่อสิทธิมนุษยชน”

วันที่ 15 มิถุนายน 2566 นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เข้าร่วมพิธีเปิดพร้อมบรรยายพิเศษ เรื่อง “การศึกษาเพื่อสิทธิมนุษยชน” ในการอบรมเชิงปฏิบัติการวิทยากรกระบวนการ (Training of Teainers) ด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อนำคู่มือการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไปประยุกต์ใช้ โดยมี นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นางสาวรตญา กอบศิริกาญจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วิทยากร และผู้เข้าร่วมอบรมเข้าร่วม ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-16 มิถุนายน 2566 ณ ห้องเพชร โรงแรมเอเชียพัทยา จังหวัดชลบุรี

นายธีร์ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้จัดทำคู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยยึดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม รวมทั้งสิ้น 5 ช่วงชั้น ได้แก่ ระดับประถมศึกษาตอนต้น ประถมศึกษาตอนปลาย มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และการปลูกฝังเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 เพื่อยกระดับเครื่องมือทางการศึกษา เพิ่มคุณภาพ และประสิทธิภาพบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงศึกษานิเทศก์ในด้านสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเป็นการส่งเสริมบทบาทในการมีส่วนร่วมพัฒนาการศึกษา โดยใช้คู่มือการจัดการเรียนรู้ฯ เป็นแนวทางและให้ข้อเสนอแนะในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคุณภาพบุคลากรทางการศึกษา ศึกษานิเทศก์ และผู้เรียนด้านสิทธิมนุษยชน

นายธีร์ กล่าวต่อไปว่า การอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ เป็นอีกก้าวหนึ่งของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ร่วมกันขับเคลื่อนแนวทางอย่างเป็นระบบในการสร้างเสริมสิทธิมนุษยชนให้แก่ศึกษานิเทศก์ ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ร่วมสร้างเครือข่ายศึกษานิเทศก์ให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน และนำความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่ในโรงเรียนที่รับผิดชอบ เพื่อร่วมกันปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้และตระหนักถึงคุณค่าของสิทธิมนุษยชนผ่านการประยุกต์ใช้ในบทเรียน กิจกรรมการเรียนการสอน และวิถีชีวิตประจำวัน รวมทั้งประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทในครอบครัว โรงเรียน ชุมชน และสังคม เพื่อนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยได้อย่างมั่นคงยั่งยืน