สพฐ. ลุยพร้อมเครือข่ายสร้าง 10 โรงเรียนแม่ข่ายวิทยาศาสตร์พลังสิบเข้มแข็ง  เน้นขยายผลสร้างโอกาสโรงเรียน เด็กคุณภาพ สร้างนวัตกรรมนำสู่ระดับสากล

วันที่ 22 มิถุนายน 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ  กพฐ.) เปิดการประชุมและบรรยายพิเศษในการประชุมเชิงปฏิบัติการ การสรุปผลการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนแม่ข่ายในโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ระดับมัธยมศึกษา ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรมรอยัลเบญจา สุขุมวิท กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้บริหาร คณะครู และบุคลากรโรงเรียนแม่ข่ายในโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ เข้าร่วมการประชุม

สำหรับการประชุมครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้สรุปผลการพัฒนาครูวิทยากรแกนนำและผู้บริหารโรงเรียนแม่ข่ายโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ระดับมัธยมศึกษา 10 โรงเรียนแม่ข่าย ซึ่งทำหน้าที่เป็นวิทยากรขยายผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ไปยังโรงเรียนในเครือข่ายต่อไป โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้บริหารที่ร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม อาทิ นายภูริวรรษ คำอ้ายกาวิน ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา รองศาสตราจารย์ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายวรวรงค์ รักเรืองเดช ผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ นายพรชัย อินทร์ฉาย รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบจนบรรลุเป้าหมายและเกิดประสิทธิภาพ

ในโอกาสนี้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวถึงจุดเน้นการดำเนินงานโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ โดยโรงเรียนแม่ข่ายมีความสำคัญในการนำหลักสูตรไปใช้อบรมครูแกนนำในโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ให้สามารถเป็นต้นแบบ  เพื่อยกระดับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพนักเรียน ถอดบทเรียนเกี่ยวกับกระบวนการที่สำเร็จและขยายผลไปยังโรงเรียนศูนย์วิทยาศาสตร์พลังสิบและโรงเรียนเครือข่ายอย่างเข้มแข็ง ด้วยกระบวนการการบ่มเพาะ  แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อนำสู่คุณภาพที่ครบทั้ง 3 ด้าน คือ หลักสูตร กิจกรรม และการประเมินผล ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เน้นการคิดวิเคราะห์ในเรื่องวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี เสริมสร้างศักยภาพนักเรียนสู่เวทีโลกให้ได้ รวมทั้งสร้างโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียนปกติทุกโรงเรียนสามารถเข้าถึงกระบวนการเรียนรู้ตามหลักสูตรโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบได้ และขยายความร่วมมือกับหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศ และให้ทุกโรงเรียนมีเป้าหมายสำคัญร่วมกัน คือ การพัฒนานักเรียนที่มีศักยภาพ พร้อมเติมเต็ม พร้อมพัฒนา และพร้อมเป็นต้นแบบของเยาวชน นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ได้ด้วยตนเอง

“ทั้งนี้ ขอชื่นชมในความมุ่งมั่น ตั้งใจ และความร่วมมือจากผู้บริหาร คณะครู รวมถึงบุคลากรโรงเรียนแม่ข่ายทุกโรงเรียน ที่ได้ร่วมกันพัฒนาเพื่อเป็นต้นแบบขยายผลไปสู่โรงเรียนศูนย์วิทยาศาสตร์พลังสิบ อันก่อให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการอย่างยั่งยืนในเครือข่าย พร้อมทั้งขยายฐานการพัฒนาและส่งเสริมนักเรียน เพื่อรองรับการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ให้สามารถสร้างองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมเพื่อสามารถแข่งขันได้ในระดับประชาคมโลกต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว