สพฐ. พร้อมหนุน วช. จัดมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ส่งเสริมวิจัย-นวัตกรรมไทยสู่ระดับโลก

วันที่ 26 มิถุนายน 2566 ณ สโมสรทหารบก นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วยตัวแทนผู้บริหารสำนักของ สพฐ. ได้แก่ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (สวก.) สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สนก.) สำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา (สบว.) และสำนักทดสอบทางการศึกษา (สทศ.) พร้อมทีมวิชาการ รองเลขา กพฐ.เข้าร่วมประชุมกับ นางวิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมในการสนับสนุนการจัดงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023) ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 7-11 สิงหาคม 2566 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
.
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เห็นความสำคัญของการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการวิจัยและนวัตกรรมของไทย รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ที่จะพัฒนาศักยภาพของคนไทยให้ก้าวไปสู่ระดับโลก ซึ่งงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023)” เป็นเวทีระดับชาติที่นำเสนอความก้าวหน้าผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ เพื่อเชื่อมโยงบูรณาการองค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ โดยในปี 2566 ได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 18 มีหัวข้อในการจัดงาน คือ “วิจัยไทยก้าวไกล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน” จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ ซึ่งจากการประชุมในวันนี้ สพฐ. พร้อมดำเนินการประชาสัมพันธ์การจัดงานดังกล่าวไปยังผู้บริหาร ครู และนักเรียนในโรงเรียนสังกัด สพฐ. เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023) โดยประสานงานไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ให้ส่งรายชื่อนักเรียนของโรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมงาน เพื่อลงทะเบียนล่วงหน้าตามวันและเวลาที่สะดวกต่อไป
.
จากนั้น ภายหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมหารือ รองเลขาธิการ กพฐ. พร้อมคณะตัวแทนผู้บริหารสำนักของ สพฐ. ได้เยี่ยมชมนิทรรศการผลงานของนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัลจากเวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ โดยในผลงานเหล่านี้มีนักเรียนในสังกัด สพฐ. เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการด้วย ได้แก่ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี ลพบุรี และตรัง รวมถึงโรงเรียนสตรีวิทยา กรุงเทพฯ และโรงเรียนเลยอนุกูลวิทยา จังหวัดเลย ซึ่งเป็นที่น่าชื่นชมยินดีเป็นอย่างยิ่ง และได้รับคำชมจากคณะผู้บริหารอย่างมาก
.
สำหรับงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023)” ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจประกอบด้วย กิจกรรมที่ 1 ภาคการประชุม/สัมมนา ใน 4 รูปแบบ ได้แก่ 1) การประชุมสัมมนาขนาดใหญ่ในหัวข้อสำคัญสำหรับการบริหารจัดการงานวิจัยและปัญหาสำคัญของประเทศ 2) การประชุมสัมมนาขนาดกลาง ในหัวข้อที่อยู่ในความสนใจของสังคม 3) การประชุมกลุ่มเฉพาะเรื่อง และการนำเสนอบทความผลงานวิจัย และ 4) การประชุมให้ความรู้ ถ่ายทอดเทคนิค และกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย โดยจัดในช่วงเวลาค่ำหรือเรียกว่า Twilight Program กิจกรรมที่ 2 ภาคนิทรรศการ ประกอบด้วย 1) นิทรรศการน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมถึงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 2) นิทรรศการผลงานวิจัยและกิจกรรมการวิจัยจากหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ โดยรวม “นิทรรศการศาสตร์และศิลป์งานวิจัย” และ “นิทรรศการวิจัยหนุนเศรษฐกิจชุมชน: Power RI for Community Economy” 3) นิทรรศการผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา และ 4) นิทรรศการนำเสนอบทความผลงานวิจัย Thailand Research Expo & Symposium 2023 กิจกรรมที่ 3 การส่งเสริมและสนับสนุนนักวิจัยในสาขาวิชาการต่างๆ ได้มีโอกาสนำเสนอผลงานวิจัยที่มีคุณภาพต่อผู้สนใจและผู้ใช้ประโยชน์ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และพัฒนาศักยภาพของการเรียนรู้ในศาสตร์สาขาวิชาการในประเด็นสำคัญอื่นๆ (Thailand Research Expo & Symposium 2023)
กิจกรรมที่ 4 การจัดกิจกรรม Highlight Stage เป็นเวทีหลักที่ใช้เทคนิคการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีความพร้อมใช้ประโยชน์ทั้งในระดับชุมชน องค์กร พาณิชย์ ที่มีรูปแบบการนำเสนอที่หลากหลาย โดยการกำหนดประเด็นเฉพาะและมีพิธีกรมืออาชีพเป็นผู้ดำเนินการ
กิจกรรมที่ 5 การให้คำปรึกษาเรื่องการวิจัย (Research Clinic) และการเจรจาธุรกิจ (Business Matching) นักวิจัยพบผู้ประกอบการกิจกรรมที่ 6 การมอบรางวัลมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023 Award) กิจกรรมที่ 7 การประกวดนวัตกรรมสายอุดมศึกษา 2566 เป็นการส่งเสริมให้นิสิต นักศึกษาในทุกระดับจากสถาบันอุดมศึกษา ที่ได้บ่มเพาะความรู้และแรงบันดาลใจในการพัฒนานวัตกรรม ได้นำเสนอผลงานนวัตกรรมและประกวดแข่งขัน กิจกรรมที่ 8 การยกย่องเชิดชูเกียรติคุณนักวิจัย ประกอบด้วย ศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น วช. และเมธีวิจัยอาวุโส วช.
.
กิจกรรมที่ วช. ได้จัดขึ้นเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ และส่งเสริมพัฒนาถึงสมรรถนะของผู้เรียน ต่อยอดทักษะอาชีพ และอนาคตจองนักเรียนได้อย่างดี ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ฟรีทุกกิจกรรมได้แล้วตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 6 สิงหาคม 2566 หรือจนกว่าจะเต็มจำนวนของแต่ละหัวข้อการประชุมที่มีจำนวนที่นั่งจำกัด โดยลงทะเบียนได้ทาง https://researchexporegis.com