วันที่ 27 มิถุนายน 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เยี่ยมให้กำลังใจคณะทำงานการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแนวทางและสร้างแพลตฟอร์มการบูรณาการแหล่งเรียนรู้ท้องถิ่นกับหลักสูตรสถานศึกษา โดยมีผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ ครูผู้สอน และนักวิชาการศึกษา จำนวน 60 คน เข้าร่วมการประชุม ณ โรงแรมแกรนด์ราชพฤกษ์ จังหวัดนนทบุรี
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการพัฒนาแนวทางการบูรณาการแหล่งเรียนรู้ท้องถิ่นกับหลักสูตรสถานศึกษา ที่เป็นการต่อยอด Active Learning ลงสู่การปฏิบัติ และพัฒนาแพลตฟอร์มแหล่งเรียนรู้ท้องถิ่นกับการบูรณาการหลักสูตรสถานศึกษา เป็นแบบระบบออนไลน์ โดยมีการแบ่งคณะทำงานในการออกแบบแพลตฟอร์มแหล่งเรียนรู้สำหรับสถานศึกษา รวมถึงแนวทางการดำเนินงานต่อยอด Active Learning ด้วยการบูรณาการแหล่งเรียนรู้ท้องถิ่นกับหลักสูตรสถานศึกษา ซึ่งเป็นการสร้างแนวทางที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนระดับเขตพื้นที่ และนำสู่การปฏิบัติในระดับสถานศึกษา ซึ่งเมื่อแพลตฟอร์มนี้ได้พัฒนาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะสามารถแสดงให้เห็นภาพรวมของแหล่งเรียนรู้ที่สามารถบูรณาการมาตรฐานและตัวชี้วัดในหลักสูตรสถานศึกษาและตอบโจทย์เป้าหมายของหลักสูตรชาติได้ครอบคลุมทั้งประเทศ 245 เขตพื้นที่ 20,015 แหล่งเรียนรู้ ซึ่งเขตพื้นที่สามารถอัพเดตข้อมูลได้เป็นปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการขับเคลื่อนการพัฒนาการเรียนรู้ด้วยการออกแบบแนวทางการคัดเลือกเขตพื้นที่ โรงเรียน ครู ศึกษานิเทศก์ ที่มีการพัฒนาต่อยอดการจัดการเรียนรู้เชิงรุก ด้วยการบูรณาการแหล่งเรียนรู้ท้องถิ่นกับหลักสูตรสถานศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการสร้างเกณฑ์การคัดเลือกเขตพื้นที่ โรงเรียนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) รวมถึงแนวทางการนิเทศ ติดตาม การจัดการเรียนรู้เชิงรุก ด้วยการบูรณาการแหล่งเรียนรู้ท้องถิ่นกับหลักสูตรสถานศึกษา และพัฒนาตัวอย่างหน่วยการเรียนรู้บูรณาการการจัดการเรียนรู้เชิงรุก โดยใช้แหล่งเรียนรู้ และ Soft Power ด้วยแหล่งเรียนรู้ชุมชน สร้างคุณลักษณะ และสมรรถนะนักเรียนผ่านคุณค่าที่เกิดจากบริบททางการเรียนรู้
รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า การดำเนินการในครั้งนี้เป็นสิ่งใหม่ที่เน้นการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ไม่ใช่เพียงการทัศนศึกษา แต่เป็นการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ ปราชญ์ชุมชน หรือวิทยากรท้องถิ่น ที่จะทำให้นักเรียนของเราได้ทั้งองค์ความรู้ สมรรถนะ และที่สำคัญคือคุณลักษณะ ความสำคัญของการศึกษาไม่ใช่เป็นเพียงการพัฒนาองค์ความรู้ แต่เป็นการสร้างนิสัย บ่มเพาะสิ่งดีงาม แล้วนำไปสู่การใช้ชีวิตในอนาคตได้อย่างมีความสุข ที่สำคัญยังเน้นย้ำอยู่เสมอว่า การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของเราที่เป็นการต่อยอด Active Learning ด้วยแหล่งเรียนรู้ใกล้โรงเรียนนั้น ต้องไม่เป็นภาระการเรียนรู้ของนักเรียน และไม่เป็นภาระของครู สามารถวัดและประเมินผลได้จริง รวมทั้งผู้อำนวยการโรงเรียนนำพาทำ เพื่อให้แหล่งเรียนรู้เป็นห้องเรียนรวมหลายวิชา ที่นักเรียนได้เห็นของจริง ปฏิบัติได้ เกิดคำถาม ได้คำตอบจากผู้รู้จริง ทำให้เข้าใจสิ่งต่างๆใกล้โรงเรียน เห็นคุณค่า ต่อยอดไปสู่การสร้างมูลค่าจากบ้านเกิดของตนเองผ่านเทคโนโลยีด้วยมือของนักเรียนเอง
“ทั้งนี้ ประโยชน์ของการพัฒนาแพลตฟอร์มแหล่งเรียนรู้สำหรับสถานศึกษา โดยครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัด สพฐ. จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภายใน สพฐ. ทำให้เกิดความยั่งยืน และสามารถต่อยอดในการพัฒนาได้อย่างเข้มแข็งต่อเนื่อง เกิดความรู้ภาพรวมของทั้งประเทศ ทำให้ภาพชัดของพหุวัฒนธรรม อารยธรรมที่แตกต่างแต่รวมความเป็นไทยได้อย่างน่าภูมิใจ” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ทางด้าน นายสุบรรณ คับพวง ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านนาเยีย สพป.อุบลราชธานี เขต 4 (ผู้อำนวยการหนุนเสริม) กล่าวเสริมว่า การขับเคลื่อนในระดับโรงเรียนได้มีการดำเนินการในภาคเรียนที่ 2/2565 ที่ผ่านมาได้รับการตอบรับที่ดีจากนักเรียน และครูผู้สอน ซึ่งนักเรียนมีความตื่นเต้นที่จะได้เรียนรู้นอกสถานที่ ส่วนครูถึงแม้จะมีความยากในการเตรียมความพร้อม แต่ก็สามารถดำเนินการไปได้อย่างสำเร็จลุล่วง ด้วยการนำของผู้บริหาร พร้อมศึกษานิเทศก์พาทำ และมีการวางแผนสำหรับปีการศึกษา 2566 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะกระตุ้นให้นักเรียนอยากเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ใกล้โรงเรียน ด้วยการสร้างพฤติกรรมเชิงบวก และสร้างความกระตือรือร้นให้นักเรียนรู้สึกสนุกมากขึ้น
- สพฐ. ประชุม ผอ.สพท. ยุคใหม่ เดินหน้าสานต่อ “เรียนดี มีความสุข” - 15 กันยายน 2024
- เสมา 2 ชื่นชม สพฐ. ปรับโฉมใหม่ ประชุม ผอ.สพท. เน้นผลงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน - 14 กันยายน 2024
- เสมา 1 ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือ สั่งการเร่งช่วยเหลือโรงเรียนประสบภัย - 13 กันยายน 2024