สพฐ. เขตพื้นที่ จับมือ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมขับเคลื่อนปฐมวัยถึงมัธยมศึกษา เสริมพัฒนาการ สร้างอาชีพ และทักษะชีวิต

วันที่ 29 มิถุนายน 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ร่วมการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามโครงการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโรงเรียนในพื้นที่ข้างเคียงขยายผลการพัฒนาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 ผ่านระบบ Zoom Meeting โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย คุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยา คณะกรรมการและประธานโครงการพัฒนาการศึกษามูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ รอง ผอ. สพป.เชียงราย เขต 3 รอง ผอ.สวก.  ผอ.กลุ่มพัฒนาหลักสูตรฯ ปฐมวัย นักวิเคราะห์นโยบายและแผน สนผ. ผอ.กลุ่มนิเทศ สพป.เชียงราย เขต 3 ผอ.กลุ่มนโยบายและแผน และผู้อำนวยการโรงเรียนในพื้นที่ดอยตุง รวม 22 คน

สำหรับการประชุมในครั้งนี้เป็นการติดตามการรายงานผลและการต่อยอดแนวทางการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ เน้นความสำคัญของการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งขั้นพื้นฐานของการเรียนรู้ ตั้งแต่ระดับปฐมวัย และระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้วยรูปแบบและเทคนิคการเรียนรู้ที่หลากหลาย อาทิ เสริมสร้างศักยภาพอย่างเต็มที่โดยยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง ใช้แนวทางการสอนแบบมอนเตสซอรี (Montessori) กับเด็กปฐมวัย เน้นสอนให้เด็กๆ เรียนรู้ผ่านกระบวนการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง (Constructionism) ตลอดจนกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายครอบคลุมไปจนถึงระดับมัธยมศึกษา ทั้งการเรียนรู้ด้วยภาระงานเป็นฐาน (Task-Based Learning) การจัดการเรียนรู้แบบทำโครงงาน (Project-Based Learning) และการเรียนรู้พื้นฐานและทักษะอาชีพ (Vocational Learning) เป็นต้น

คุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยา กล่าวว่า โครงการพัฒนาดอยตุงฯ มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาการศึกษาให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน จึงได้มีการกำหนดเป้าหมาย และกระบวนการเรียนการสอนที่ชัดเจน มีแผนงานในการยกระดับและพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา การสนับสนุนสื่อ อุปกรณ์ในการเรียนการสอน รวมทั้งประสานความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา จำนวน 36 โรงเรียน ในอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย และ 3 โรงเรียน ในอำเภอท่าตอน จังหวัดเชียงใหม่ รวม 39 โรงเรียน

โดยเขตพื้นที่ได้นำเสนอโครงการและกิจกรรมที่ได้ดำเนินการร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ตั้งแต่ปี 2561-2565 มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ 1.การพัฒนาครู ด้วยการพัฒนาครูอย่างเข้มสำหรับบรรจุใหม่และที่ยังไม่เคยผ่านกระบวนการการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยแบบภาระงานเป็นฐาน (Task Based Learning) 2.การพัฒนาผู้เรียนโดยใช้ห้องเรียนเป็นฐาน/ปรับปรุงห้องเรียน/วัสดุ/สื่อการเรียนการสอน เช่น สื่อมอนเตสซอรีในการจัดการเรียนการสอน 3.การพัฒนาผู้เรียนโดยใช้ศูนย์พัฒนาภาษาไทยฯเป็นฐาน เช่น กิจกรรมการยกระดับศูนย์พัฒนาภาษาไทยและใช้กลไกของศูนย์ในการพัฒนาและนิเทศติดตามการดำเนินงาน ผ่านกลไกพื้นที่เป็นฐาน 4.การนิเทศติดตามประเมินผลและรายงานผลการดำเนินงาน และกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการและ best practice ระหว่างครูผู้สอน เป็นต้น โดยมีการกำหนดระยะเวลาการดำเนินการไว้อย่างชัดเจน รวมทั้งได้มีการออกแบบเครื่องมือในการติดตามระหว่างศึกษานิเทศก์ของเขตพื้นที่และคณะทำงานของโครงการฯ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนด้วยการไม่สร้างภาระให้กับครู แต่เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน

ทางด้าน นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า เป็นการดีที่เราได้รับความอนุเคราะห์ และการสนับสนุนจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนของเรา (สพฐ.) ทั้งองค์ความรู้ บุคลากร สื่อ คลิปวิดีโอการเรียนการสอน รวมทั้งทีมโค้ชเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการขับเคลื่อนจะต้องเป็นรูปธรรมจับต้องได้ โดยให้แต่ละกิจกรรมที่ดำเนินการร่วมกันระหว่างเขตพื้นที่ และโครงการพัฒนาการศึกษามูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ มีการกำหนดเป้าหมายร่วมกันซึ่งมีความชัดเจน ทั้งเชิงปริมาณ และคุณภาพ เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการสร้างประสิทธิภาพในการทำงาน และเมื่อหากไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ควรมีทีมเติมเต็มเพื่อจะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไปให้ถึงเป้าหมาย ซึ่งจะต้องอยู่ในแนวทางการทำงานของคณะกรรมการส่วนย่อยของแต่ละโครงการและกิจกรรมร่วมกันออกแบบ และหาแนวทางในการยกระดับการดำเนินงานให้มีคุณภาพ ทั้งนี้ ยังได้ให้โรงเรียนในเครือข่ายจัดทำข้อมูลของโรงเรียนที่ได้ดำเนินการขับเคลื่อนแล้วพบสิ่งที่ต้องมีการพัฒนาหรือเติมเต็ม เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการวางแผนและออกแบบในการพัฒนาต่อไป

“ทั้งนี้ โครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่เขตพื้นที่ได้ทำร่วมกับโครงการพัฒนาการศึกษามูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ  จะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วยการเติมเต็มคุณภาพในด้านต่างๆ โดยเพิ่มเติมจากสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา โดยสถาบันภาษาไทย และกลุ่มพัฒนาหลักสูตร ฯ ปฐมวัย ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพร่วมกับเขตพื้นที่ได้อย่างเข้มแข็ง ขยายผลต่อเนื่อง สร้างภาพชัดและเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับทั้งประเทศได้ สร้างกลุ่มโรงเรียนที่เข้มแข็ง 39 โรงเรียนต้นแบบ ครู และนักเรียนมีเครือข่ายในการพัฒนา ผ่าน PLC ร่วมกัน เป็นตัวอย่างในการพัฒนาทั้งประเทศได้ต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว