สพม.34 (เชียงใหม่ – แม่ฮ่องสอน) อบรมพัฒนาและส่งเสริมทักษะด้านโค้ดดิ้งเพื่อการจัดการเรียนการสอน

สพม.34 (เชียงใหม่ – แม่ฮ่องสอน) อบรมพัฒนาและส่งเสริมทักษะด้านโค้ดดิ้งเพื่อการจัดการเรียนการสอนวิทยาการคำนวณตามหลักสูตรแกนกลางแนวใหม่ร่วมกับโรงเรียนต้นแบบพื้นที่พัฒนานักประดิษฐ์ดิจิทัล ระหว่าง วันที่ 19 – 20 เมษายน 2562 ณ โรงแรมวินทรีซิตี้รีสอร์ท อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่

วันที่ 19 เมษายน 2562 เวลา 09.00 น . ดร.สิทธิชัย มูลเขียน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 34 เป็นประธานเปิดการอบรมพัฒนาและส่งเสริมทักษะด้านโค้ดดิ้งเพื่อการจัดการเรียนการสอนวิทยาการคำนวณตามหลักสูตรแกนกลางแนวใหม่ร่วมกับโรงเรียนต้นแบบพื้นที่พัฒนานักประดิษฐ์ดิจิทัล ให้แก่ ข้าราชการครูในสังกัด จำนวน 42 โรงเรียน จำนวน 90 คน และผู้ที่มีความสนใจ จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 1 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 3 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 30 จำนวน 10 คน รวมทั้งสิ้น จำนวน 100 คน

ในการนี้ นางสาวอรสา ดีทุ่ง ศึกษานิเทศก์ กล่าวรายงาน ตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ฉบับปรับปรุง 2560 โดยมุ่งเน้นการสร้างกำลังคนให้สามารถพัฒนา ขีดความสามารถตนเองให้มีการแข่งขันได้ หนึ่งในนั้นได้บรรจุรายวิชาวิทยาการคำนวณ สาระเทคโนโลยีให้อยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ที่เป็นปัจจัยสำคัญของการสร้างระบบการคิด อันนำไปสู่เป็นผู้สร้างนวัตกรรม โดยเน้นองค์ความรู้ 3 ด้าน ประกอบด้วยการคิดเชิงคำนวณพื้นฐานความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และพื้นฐานการรู้เท่าทันสื่อและข่าวสาร ซึ่งในเรื่องของวิทยาการคำนวณมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยให้มนุษย์พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ คิดอย่างมีเหตุผล เป็นระบบ สามารถวิเคราะห์แก้ปัญหาได้อย่างรอบครอบ ถี่ถ้วน ตลอดจนการใช้วิชาการวิทยาการคำนวณบูรณาการเข้ากับความรู้ทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในการแก้ปัญหาพัฒนางานด้วยกระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรมศาสตร์อันนำไปสู่การค้นพบสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่เอื้อประโยชน์ต่อการดำรงชีพในอนาคต

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 34 ได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว โดยเชื่อว่าการส่งเสริมให้ครูมีทักษะ ความรู้ ความสามารถ ในกระบวนการเรียนการสอนที่ดี จะส่งผลและถ่ายทอดทักษะที่ดีนั้นไปสู่ผู้เรียน จึงได้จัดการอบรมครูตามโครงการพัฒนาและส่งเสริมทักษะด้านโค้ดดิ้งเพื่อการจัดการเรียนการสอนวิทยาการคำนวณตามหลักสูตรแกนกลางแนวใหม่ร่วมกับโรงเรียนต้นแบบพื้นที่พัฒนานักประดิษฐ์ดิจิทัล ที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยดำเนินการอบรมครูในสังกัดทั้งจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในการอบรมและพัฒนาครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนและอนุเคราะห์สื่อ อุปกรณ์และวิทยากรที่มีความรู้ ทักษะ ความสามารถและเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการพัฒนาทักษะโค้ดดิ้งและการสร้างสิ่งประดิษฐ์ระบบอัตโนมัติจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ด้าน ดร.สิทธิชัย มูลเขียน ประธานในพิธีกล่าวว่า การพัฒนากำลังคนให้มีความสามารถในการแข่งขันในเรื่องการผลิตนวัตกรรมตลอดจนการสร้างพลเมืองดิจิทัลที่พึงประสงค์จากการพัฒนาระบบการคิดที่ดีด้วยการบรรจุเรื่องการพัฒนาทักษะ Coding หรือกระบวนการคิดเชิงคำนวณผ่านการเขียนโปรแกรมไว้ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ซึ่งประเทศไทยก็เห็นถึงความสำคัญนั้น ส่งผลให้กระทรวงศึกษาธิการได้ปรับหลักสูตรให้มีการเรียนการสอนวิทยาการคำนวณอยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และในปีการศึกษา 2563 นักเรียนทุกระดับชั้นต้องเรียนในหลักสูตรที่ปรับปรุงใหม่ทุกคน หากพิจารณาให้ดีแล้ว กระบวนการคิดเชิงคำนวณนั้น ได้สอดแทรกอยู่ในทุกรายวิชาพื้นฐาน ไม่ได้จำกัดแค่เพียงในรายวิชาคอมพิวเตอร์เท่านั้น ซึ่งการคิดที่เป็นระบบมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่ทางสถานศึกษาจะต้องดำเนินการจัดกระบวนการเรียนการสอนให้ผู้เรียนรู้จักคิดแก้โจทย์ปัญหา รู้จักวางแผนและรับมือปัญหาปลายเปิดที่ซับซ้อน สามารถเชื่อมโยงกระบวนการคิดเชิงคำนวณเข้ากับรายวิชาพื้นฐานอื่นๆได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน จะเห็นว่าการสร้างกระบวนการคิดที่เป็นระบบนั้นจะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพผู้เรียนให้มีคุณภาพ และมาตรฐานระดับสากล สอดคล้องกับ Thailand 4.0 ความความต้องการกำลังคนในอนาคต

โอกาสนี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 34 ขอขอบคุณ วิทยากร คณะทำงานและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่านที่มีส่วนทำให้เกิดการอบรมและพัฒนาในครั้งนี้

รูปภาพเพิ่มเติม https://photos.google.com/…/AF1QipPTtCGzguywnRwYCbHX0ptP83K…