สพฐ. ประชุมปฎิบัติการแนวทางบริหารจัดการโครงการห้องเรียนดนตรี

วันที่ 23 เมษายน 2562 พลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมและมอบนโยบายแก่ผู้บริหารและครูของโรงเรียนในโครงการห้องเรียนดนตรี เพื่อให้โครงการห้องเรียนดนตรีสามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ในเรื่องการรับนักเรียน การสนับสนุนงบประมาณ รวมถึงการบริหารจัดการด้านอาคารสถานที่ที่เหมาะสมกับการจัดการเรียนการสอนดนตรี โดยมีนายพีระ รัตนวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมด้วยผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครู และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม ณ โรงแรมริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ


พลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษา รมช.ศธ. กล่าวว่า โครงการห้องเรียนดนตรีเกิดขึ้นจากการที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนานักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษด้านดนตรีใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเชื่อว่าดนตรีจะเป็นสื่อกลางในการสร้างสันติสุข ดังนั้นในปีการศึกษา 2560 จึงคัดเลือกโรงเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความพร้อม จำนวน 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดปัตตานี โรงเรียนสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส และโรงเรียนคณะราษฎรบํารุง จังหวัดยะลา เป็นโรงเรียนต้นแบบในการพัฒนา ต่อมาในปีการศึกษา 2561 ได้ขยายไปสู่โรงเรียนใน 3 ภูมิภาค จำนวน 3 โรงเรียน และในปีการศึกษา 2562 ได้ขยายให้ครอบคลุมทุกภาคภูมิศาสตร์ จำนวน 14 โรงเรียน รวมโรงเรียนในโครงการทั้งสิ้น 20 โรงเรียน มีนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 568 คนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 291 คน รวมนักเรียนทั้งสิ้น 859 คน โดยวัตถุประสงค์ของโครงการห้องเรียนดนตรีนั้น เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และเปิดโอกาสให้นักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษด้านดนตรีได้เรียนรู้ตามความสนใจและความถนัด และได้รับการพัฒนาให้มีความสมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย อารมณ์ สังคม และจิตใจ รวมถึงสร้างเครือข่ายร่วมพัฒนากับหน่วยงานและองค์กรทางการศึกษา ในการพัฒนาและส่งต่อนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษด้านดนตรีให้ได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น และสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพทางด้านดนตรีต่อไปในอนาคต

สำหรับการรับนักเรียนในระยะเริ่มแรก สพฐ. ได้ขออนุมัติหลักการเปิดห้องเรียนดนตรีในลักษณะห้องเรียนพิเศษ ห้องเรียนละ 35 คน ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 1 ห้องเรียน และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 1 ห้องเรียน การจัดการเรียนการสอนมีการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาที่เพิ่มความเข้มข้นทางด้านดนตรีทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ โดยชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นใช้ชื่อแผนการเรียน วิทย์-ดนตรี ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายใช้ชื่อ

แผนการเรียน ศิลป์-ดนตรี ส่วนประเภทของวงดนตรี ในระยะเริ่มต้นโรงเรียนได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาในกลุ่มเครื่องดนตรีของวงโยธวาทิต ได้แก่ กลุ่มเครื่องลมไม้ เครื่องลมทองเหลือง และเครื่องจังหวะ เนื่องจากมีพื้นฐานการทำวงและมีเครื่องดนตรีอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมให้เพียงพอกับการจัดการเรียนการสอนเป็นรายบุคคล และการทำวง รวมถึงในรายวิชาที่เปิดสอนในหลักสูตร ทั้งนี้ เพื่อให้นักเรียนในโครงการได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติด้วยเครื่องดนตรีที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน และเกิดความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณ สพฐ. จึงเปิดโอกาสให้โรงเรียนกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของครุภัณฑ์ดนตรีเพื่อใช้ในการเรียนการสอนของโรงเรียนในโครงการห้องเรียนดนตรีได้ อีกทั้งยังสนับสนุนงบประมาณที่จำเป็นต่อการพัฒนาทักษะนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษด้านดนตรี ทั้งในเรื่องการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารสถานที่ของโรงเรียนให้เหมาะสมกับการจัดการเรียนการสอนดนตรี การสนับสนุนครุภัณฑ์ดนตรี งบประมาณสำหรับจ้างครูดนตรีและเพื่อการจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะทางดนตรี รวมถึงการวางแนวทางในการบริหารจัดการโรงเรียนในโครงการให้มีคุณภาพและมาตรฐานเทียบเคียงมาตรฐานสากล

ผลที่ได้รับจากการจัดทำโครงการห้องเรียนดนตรี คือนักเรียนจะได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะจากศิลปินแห่งชาติ ผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ ทำให้มีพัฒนาการที่ดี สามารถต่อยอดและพัฒนาได้เต็มตามศักยภาพ สามารถศึกษาต่อในสาขาที่ตรงกับความสนใจและความถนัด สามารถผลิตผลงานที่สร้างสรรค์ สามารถบูรณาการความคิดสร้างสรรค์ทางด้านศิลปะ ดนตรี และนาฏศิลป์เข้ากับสาขาวิชาอื่น นำไปสู่การประกอบอาชีพได้ในอนาคต โดย สพฐ. จะสร้างและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานองค์กรต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษได้เข้าร่วมกิจกรรมหรือศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนการดำเนินงานในระยะต่อไป จะมีการสนับสนุนค่าครุภัณฑ์ดนตรีให้เพียงพอต่อจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้น เพราะการเรียนการสอนดนตรีจำเป็นต้องมีการฝึกปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ผู้เรียนจำเป็นต้องมีเครื่องดนตรีเป็นของตัวเอง มีการจัดทำมาตรฐานการสอบวัดระดับทางดนตรีเพื่อให้นักเรียนในโครงการห้องเรียนดนตรีทุกคนมีคุณภาพและมาตรฐานเทียบเท่ามาตรฐานระดับชาติ (สำหรับดนตรีไทย) และเทียบเท่ามาตรฐานสากล (สำหรับดนตรีสากล) รวมถึงส่งเสริมสนับสนุนให้ครูผู้สอนในโครงการห้องเรียนดนตรีได้รับการพัฒนาความรู้ทางดนตรีอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมให้มีการประกวดแข่งขันทางด้านดนตรีทั้งในเวทีระดับชาติและนานาชาติต่อไป

ข่าว อัจฉรา / ภาพ ชุติมา ปชส.สพฐ.