สพฐ. ชมโขน “กุมภกรรณทดน้ำ” ชู Soft Power ศาสตร์ศิลป์ไทย ดังไกลระดับโลก

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการแสดงโขน ตอน “กุมภกรรณทดน้ำ” จัดโดยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยมีพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้แก่ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) และนางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ได้ร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จ และร่วมชมการแสดงโขนครั้งยิ่งใหญ่นี้ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช ในฐานะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์การแสดงโขนฯ และโฆษก สพฐ. กล่าวถึงการจัดแสดงโขนในครั้งนี้ว่า มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้จัดการแสดงโขนมูลนิธิศิลปาชีพฯ ตอน “กุมภกรรณทดน้ำ” ซึ่งกล่าวถึงเรื่องราวเมื่อกุมภกรรณ ยักษ์ที่มีคุณธรรม หลงเชื่อคำยุยงของทศกัณฐ์เพื่อช่วยทศกัณฐ์ในการทำศึกกับพระราม ผู้ชมจะพบกับเรื่องราวความพิเศษของการแสดงโขนสุดยิ่งใหญ่แห่งปีที่รวบรวมองค์ความรู้จากครูผู้เชี่ยวชาญทุกสาขา ทั้งโขน ละคร ดนตรี คีตศิลป์ มารวมกันเพื่อการแสดงที่ยิ่งใหญ่ นอกจากการแสดงที่วิจิตรงดงาม ผู้แสดงล้วนเป็นเยาวชนรุ่นใหม่ที่ผ่านการคัดเลือกและฝึกซ้อมจากครูผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ จนมีฝีมือการร่ายรำอันงดงามถูกต้องตามจารีต นอกจากนี้ยังได้รับฟังการบรรเลงดนตรีและขับร้องเพลงไทยอันไพเราะ และรับชมความวิจิตรของเครื่องแต่งกายอันประณีต พบกับความพิเศษของสุดยอดฉากการแสดงที่ยิ่งใหญ่ตระการตาในฉากกุมภกรรณทดน้ำเพื่อไม่ให้ไหลไปสู่พลับพลา ฉากหนุมานแปลงกายเป็นเหยี่ยวใหญ่ ฉากหนุมานดำลงสู่ใต้น้ำและอีกมากมายที่จัดสร้างขึ้นเพื่อการแสดงโขนที่ยิ่งใหญ่บนเวทีแห่งนี้

“นับเป็นเวลาเกือบ 2 ทศวรรษที่โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้จัดการแสดงโขนเพื่อการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้ชื่นชมความงดงามของศิลปะดั้งเดิมของไทยหลากหลายแขนงในการแสดงโขน รวมทั้งศาสตร์ด้านละคร ดนตรี คีตศิลป์ มารวมกันเพื่อการแสดงที่ยิ่งใหญ่ วิจิตรงดงาม นับเป็น Soft Power ทางศิลปวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของไทยที่สามารถส่งออกให้นานาประเทศได้เห็นว่าไทยเรานั้นมีองค์ความรู้ด้านศิลปะมายาวนาน ด้วยศาสตร์และศิลป์อันวิจิตรบรรจงที่สั่งสมมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่แพ้ชาติใด เมื่อได้เข้ามาสัมผัสแล้วไม่เพียงได้ตราตรึงกับงานศิลป์ที่ไร้กาลเวลาแล้วยังได้เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมของไทยไปพร้อมกันด้วย นอกจากนี้ยังมีรอบนักเรียน 12 รอบ กว่า 17,000 คน (ซึ่งเต็มแล้ว) นักเรียนได้มีโอกาสเข้าชมโขน ซึ่งเป็นศิลปะชั้นสูงของไทย และนักเรียนสนใจเป็นจำนวนมากตั้งแต่คัดตัวแสดง และต่อเนื่องจนถึงการจองบัตรเข้าชม เป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ และเห็นคุณค่าศิลปะไทยที่มีมาอย่างยาวนาน สพฐ. ภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จที่ทำให้นักเรียนได้รับชมความวิจิตรที่งดงามของศิลปะไทยในทุกแขนง ทั้งนาฏศิลป์ ดนตรี ทัศนศิลป์ เครื่องแต่งกายประณีตบรรจง ความอ่อนช้อยงดงามจากท่าร่ายรำในทุกฉากของการแสดง ผสมผสานเทคนิคทันสมัยอย่างลงตัว จากการรับชมนักเรียนจะได้ซึมซับความเป็นไทยและจะทำให้สิ่งดีงามคงอยู่ต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น”  รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

สำหรับโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เริ่มดำเนินการจัดแสดง ชุดศึกอินทรชิต ตอนพรหมาศ ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2550 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ได้รับความชื่นชมจากประชาชนเป็นอย่างมาก มีพระราชเสาวนีย์ ให้จัดการแสดงโขนต่อเนื่องทุกปี อาทิ ตอนนางลอย ตอนศึกมัยราพณ์ ตอนจองถนน ศึกกุมภกรรณตอนโมกขศักดิ์ ศึกอินทรชิตตอนนาคบาศ ตอนพิเภกสวามิภักดิ์ ตอนสืบมรรคา ตอนสะกดทัพ  ส่งผลให้การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ได้รับการสนับสนุนและกระแสตอบรับเป็นอย่างดีมีผู้เข้าชมเต็มทุกที่นั่ง สำหรับในปี 2566 นี้ นับเป็นปีมหามงคลของปวงชนชาวไทยอีกวาระหนึ่ง ด้วยในวันที่ 28 กรกฎาคม 2566 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 71 พรรษา และวันที่ 12 สิงหาคม 2566 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 91 พรรษา มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จึงร่วมเฉลิมฉลองโอกาสมหามงคลนี้ ด้วยการจัดการแสดงโขน ตอน “กุมภกรรณทดน้ำ” โดยยึดแนวบทละครเรื่อง รามเกียรติ์ ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จับตอนตั้งแต่หลังจากที่กุมภกรรณทำศึกโมกขศักดิ์กับพระลักษมณ์แต่ไม่สำเร็จ ยังไม่สามารถสังหารพระลักษมณ์ได้ จึงคิดหาวิธีทำกลศึก นิมิตกายลงไปใต้น้ำ ทำพิธีทดน้ำนอนขวางแม่น้ำไว้ เพื่อขัดขวางกองทัพพระรามจนถึงที่สุด

ทั้งนี้ ผลการต่อสู้และจุดจบของเรื่องราวกุมภกรรณทดน้ำจะเป็นอย่างไรนั้น ติดตามรับชมได้ในการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน “กุมภกรรณทดน้ำ” ซึ่งจัดแสดงในระหว่างวันที่ 5 พฤศจิกายน – วันที่ 5 ธันวาคม 2566 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย บัตรราคา 2,000 บาท 1,800 บาท 1,000 บาท 800 บาท และ 600 บาท (รอบนักเรียน ราคา 180 บาท) เปิดจำหน่ายบัตรแล้ววันนี้ที่เคาน์เตอร์ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ ทุกสาขา โทร. 0-2262-3456

นางสาวฐิติมา ชาลีกุล
Latest posts by นางสาวฐิติมา ชาลีกุล (see all)