วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เยี่ยมให้กำลังใจผู้บริหาร และบุคลากรของ สพป.นครปฐม เขต 1 พร้อมทั้งให้ข้อแนะนำผู้บริหารสถานศึกษาบรรจุใหม่ ซึ่งมาจัดทำบันทึกข้อตกลงในการปฏิบัติงาน (MOU) กับเขตพื้นที่ฯ จำนวน 9 คน โดยได้กล่าวให้กำลังใจผู้บริหารสถานศึกษาขอให้ปฏิบัติงานด้วยความมุ่งมั่น ใช้หัวใจในการปฏิบัติงาน นึกถึงใจเขาใจเราและสร้างเครือข่ายในการพัฒนาสถานศึกษาที่ต้องร่วมด้วยช่วยกันอย่างเต็มที่ ภายใต้นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.)
จากนั้น รองเลขาธิการ กพฐ. พร้อมด้วย ผอ.สพป.นครปฐม เขต 1 และคณะศึกษานิเทศก์ ของ สพท. ร่วมลงพื้นที่ เดินทางไปเยี่ยมโรงเรียนวัดปลักไม้ลาย สพป.นครปฐม เขต 1 ซึ่งจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียน 259 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษา 16 คน โดยโรงเรียนวัดปลักไม้ลายใช้การจัดการเรียนรู้ที่อิงบริบทท้องถิ่น ตามแนว Active Learning ผ่านการเรียนรู้ทักษะอาชีพต่างๆ โดยความร่วมมือของเขตพื้นที่ หน่วยงานภาคเอกชนและชุมชน ภายใต้โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School Project)
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า จากการเยี่ยมโรงเรียนในวันนี้ พบว่า นักเรียนทุกระดับชั้นได้เรียนรู้ทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ เป็นหน่วยจำลองสังคมเพื่อเป็นแนวทางที่ดีในการดำเนินชีวิตต่อไปในภายภาคหน้าของนักเรียน สอดรับกับนโยบายของ รมว.ศธ. เรื่อง “Learn to Earn” อีกทั้ง ท่านเลขา กพฐ. เน้นการพัฒนาศักยภาพนักเรียนตามความถนัด และความสนใจ โดยนักเรียนระดับปฐมวัยเรียนรู้อาชีพในชุมชนผ่านหน่วยการเรียนรู้ชุมชนไม้ลาย ส่วนนักเรียนระดับประถมศึกษาเรียนรู้ทักษะอาชีพผ่านชมรมไม้ลายเบเกอรี่ ชมรมไม้ลายขนมไทย ชมรมไม้ลายบิวตี้ ชมรมเกษตร เป็นต้น ภายใต้หลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน การจัดกระบวนการเรียนรู้ตามความถนัดและสนใจส่งผลให้นักเรียนมีความสุขในการทำงาน มีหน้าตาที่ยิ้มแย้มสดใส กล้าแสดงออกอย่างสุภาพ เข้าใจในกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบ รู้คุณค่าของเงิน รู้จักการทำบัญชีรายรับรายจ่าย และเห็นความสำคัญของอาชีพ ร่วมคิดร่วมทำต่อยอดอาชีพอย่างสร้างสรรค์จนสามารถเป็นวิทยากรตัวน้อยของท้องถิ่นชุมชนปลักไม้ลาย สร้างความภาคภูมิใจให้กับตนเอง โรงเรียน ผู้ปกครองและชุมชน
“ในการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก ครูเป็นคนสำคัญที่จะจัดบรรยากาศการเรียนรู้ ที่สร้างให้นักเรียนได้คิด อาจใช้คำถามกระตุ้นความคิด เพื่อให้นักเรียนได้ต่อยอด สร้างผลิตภัณฑ์เดิมที่ดำเนินการอยู่แล้ว ให้ดียิ่งขึ้นโดยผลงานของนักเรียนเอง ยกตัวอย่างเช่น คุกกี้ที่ผลิตจะทำให้หลากหลายได้อย่างไร โดยสูตรดั้งเดิมที่ทำ เป็นเพียงคุกกี้เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และคุกกี้ลูกเกด จะสามารถปรับเปลี่ยนวัตถุดิบให้มีรสชาติเพิ่มเติมที่แตกต่างได้อย่างไร เช่น คุกกี้กล้วย คุกกี้มะม่วง ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น และฝึกนักเรียนสังเกตว่า สิ่งที่จะโรยหน้ามักไม่เหลว ต้องแข็งคงตัว เด็กจะได้ฝึกคิด ฝึกสร้างสรรค์ ว่าถ้ากล้วยควรเป็นกล้วยตาก หรือฝึกต่อยอดผลิตภัณฑ์ของเขาเอง ก็จะเป็นทักษะที่ติดตัวไปจนถึงการประกอบอาชีพในอนาคตของเขาได้ เรียกได้ว่าเป็นการเรียนรู้ที่ยั่งยืนและเกิดประโยชน์กับเด็กอย่างแท้จริงค่ะ สิ่งสำคัญคือ เด็กรู้ค่าของเงิน รู้จักการทำงาน รู้จักการทำบัญชีรายรับ รายจ่าย และรู้จักการออมจากกำไร ซึ่งเป็นผลดีต่อการดำเนินชีวิตของนักเรียน รวมทั้งยังช่วยพ่อแม่ได้เป็นอย่างดี” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
- เลขาธิการ กพฐ. “ธนุ” ประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 4/2567 - 5 พฤศจิกายน 2024
- รมว.ศธ. พร้อม เลขาธิการ กพฐ. ร่วมกิจกรรมยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน “9 เตรียมน้อม เตรียมความพร้อม เติมความรู้ สู่มหาวิทยาลัย” โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า - 4 พฤศจิกายน 2024
- สพฐ. ร่วมกิจกรรม “รื่นรมย์ สมฤดี 132 ปี กระทรวงศึกษาธิการ” (24 ตุลาคม 2567) - 24 ตุลาคม 2024