วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช โฆษกสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (โฆษก สพฐ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี เกิดเหตุพื้นไม้อาคารเรียนเก่าทรุดตัวและพังถล่มลงสู่ด้านล่าง ความสูงประมาณ 2 เมตร ทำให้นักเรียนจำนวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย เมื่อช่วงเย็นวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นั้น
.
นางเกศทิพย์ กล่าวว่า จากเหตุดังกล่าวที่เกิดขึ้น พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้มีข้อห่วงใยถึงโรงเรียนและนักเรียนในเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา โดยตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้กำชับให้โรงเรียนทั่วประเทศสำรวจ ตรวจสอบห้องเรียน อาคาร ห้องน้ำ พัสดุ อุปกรณ์อื่น ๆ โดยรอบโรงเรียนเป็นประจำทุกวัน ให้อยู่ในสภาพที่มั่นคง หากมีการชำรุดเสียหายต้องเร่งซ่อมแซมให้เสร็จโดยเร็วที่สุด หรือหากสุดวิสัยยังไม่สามารถซ่อมแซมแก้ไขได้ ก็ต้องจัดทำแนวกั้น ป้ายเตือน เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งในกรณีล่าสุดนี้ พบว่าผู้บริหารและครูได้ดูแลช่วยเหลือนักเรียนเป็นอย่างดี มีระบบการรายงานผลที่รวดเร็ว จึงขอย้ำเตือนทุกโรงเรียนต้องเข้มในเรื่องความปลอดภัยของนักเรียนอย่างต่อเนื่องทุกวัน โดยไม่ประมาท
.
สำหรับการดำเนินการในส่วนของ สพฐ. นั้น ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ได้มอบหมาย นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. พร้อมด้วยศูนย์ความปลอดภัย สพฐ. ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงยังโรงเรียนดังกล่าว พบว่า เหตุเกิดขึ้นช่วงเวลาประมาณ 15.15 น. โรงเรียนได้จัดการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษ มีกิจกรรมให้นักเรียนตอบคำถามหน้าชั้นเรียน จึงมีการรวมตัวทำกิจกรรมบริเวณหน้าชั้นเรียนจำนวนมาก ทำให้เกิดเหตุการณ์พื้นห้องเรียนทรุดตัว ณ บริเวณ ชั้น 1 ของอาคารเรียน โดยเบื้องต้นมีนักเรียนได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 2 คน จึงได้นำส่งโรงพยาบาลพนัสนิคม และแพทย์ให้กลับบ้านได้แล้ว ส่วนสาเหตุของการทรุดตัวนั้น พบว่าห้องที่เกิดเหตุไม่มีอาการบ่งบอกถึงการทรุดตัว ซึ่งวิศวกรของ สพฐ. ได้เคยเข้ามาตรวจสอบ เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 และโรงเรียนได้ใช้งบประมาณในการปรับปรุงซ่อมแซมมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงต้องทำการสอบสวนเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป
.
นางเกศทิพย์ กล่าวต่อไปว่า สพฐ. ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในสถานศึกษามาโดยตลอด ตามข้อสั่งการของ รมว.ศธ. โดยเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 สพฐ. ได้มีหนังสือด่วนที่สุด แจ้งมาตรการการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2566 ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ดำเนินการแจ้งสถานศึกษาในสังกัดทราบ และดำเนินการตามมาตรการการเตรียมพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2566 โดยในมาตรการได้กำหนดให้สถานศึกษาเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยของสถานศึกษา ในเรื่องการจัดสภาพแวดล้อมให้นักเรียนปลอดภัย โดยขจัดมุมอับและจุดเสี่ยงที่เป็นอันตรายต่อนักเรียน เช่น การสำรวจอาคารที่ชำรุด เป็นต้น
.
“ทั้งนี้ เลขาธิการ กพฐ. ได้เน้นย้ำว่า กรณีตามที่ปรากฏข่าว หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าสถานศึกษาหลีกเลี่ยงหรือละเลยไม่ดำเนินการตามคำสั่งและมาตรการการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2566 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ จะถือว่าปล่อยปละละเลยและบกพร่อง จะต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตามลำดับต่อไป” โฆษก สพฐ. กล่าว
- สพฐ. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการลูกเสือดิจิทัล เพื่อการศึกษาขั้นพื้นฐาน - 18 กรกฎาคม 2024
- สพฐ. ขับเคลื่อนการจัดการศึกษามัธยมศึกษาสู่ สพม. เครือข่ายส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการศึกษามัธยมศึกษาจังหวัด และโรงเรียนมัธยมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2567 - 25 เมษายน 2024
- รองเลขาธิการ กพฐ. “ธีร์” ร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำลูกเสือภาคพื้นเอเชีย – แปซิฟิก ครั้งที่ 11 (11th Asia – Pacific Regional Scout Leaders Summit, 2024) - 24 เมษายน 2024