
วันที่ 12 พฤศจิกายน 2566 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้ความสำคัญและห่วงใยความปลอดภัยของนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ในการใช้อาคารสถานที่ในการจัดการเรียนการสอนและการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งอาคารเหล่านี้ย่อมมีการชำรุดทรุดโทรม ต้องได้รับการตรวจสอบ ดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มีสภาพพร้อมใช้การได้ดีและปลอดภัย จึงขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ แจ้งสถานศึกษาในสังกัด สพฐ. ดำเนินการตามมาตรการกำกับ ติดตาม และการตรวจสอบสภาพอาคารเรียน ดังนี้
.
1. แต่งตั้งบุคลากรดูแลและรับผิดชอบด้านอาคารสถานที่
2. วิเคราะห์จุดเสี่ยงสภาพพื้นที่และตรวจสอบโครงสร้างของอาคารเรียน อาคารประกอบ และสำรวจองค์ประกอบภายใน ทั้งครุภัณฑ์ ระบบไฟฟ้า สภาพห้องเรียน และห้องน้ำ ห้องส้วม
3. จัดให้มีแผนเตรียมการป้องกันอุบัติภัยในสถานศึกษา และฝึกซ้อมแผนการอพยพเคลื่อนย้ายนักเรียน และบุคลากร หรือตู้เอกสารที่สำคัญ ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน พร้อมสร้างเครือข่ายสถานศึกษาใกล้เคียง หรือหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
4. สร้างความตระหนักและให้ความรู้ในการรักษาความปลอดภัยแก่นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา
5. จัดทำป้ายข้อควรระวังด้านความปลอดภัยในจุดอันตราย
6. ตรวจสอบโครงสร้างและส่วนประกอบอาคารอย่างสม่ำเสมอ
7. หากสถานศึกษากำลังมีการก่อสร้างอาคารภายในบริเวณ ควรจัดทำรั้วกั้น หรือใช้ผ้าคลุมบริเวณที่กำลังก่อสร้างไว้ด้วย พร้อมกับติดตั้งป้าย และประกาศเตือนไม่ให้นักเรียนเข้าไปในบริเวณดังกล่าว เพราะนักเรียนอาจได้รับอันตรายจากวัสดุก่อสร้าง เช่น กระจก กระเบื้อง ตะปู เป็นต้น
8. กรณีเกิดเหตุอาคารวิบัติ ไม่ปลอดภัยต่อผู้ใช้อาคาร ให้ทำการกั้นล้อมอาคาร ห้ามเข้าใช้อาคาร สั่งปิดอาคาร และประกาศเป็นเขตอันตรายห้ามเข้า และรายงานผู้เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการแก้ไข
9. กรณีการชำรุดมีผลกระทบต่อโครงสร้าง ให้จัดหาวิศวกรโยธาผู้มีใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม จากหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ดำเนินการสำรวจความเสียหายและจัดทำแบบรูปรายการ วิธีการซ่อมแซม พร้อมทั้งจัดทำประมาณราคาเพื่อเสนอของบประมาณต่อไป
10. กรณีการชำรุดไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้าง ให้สำรวจความเสียหายและจัดทำแบบรูปหรือรายการปรับปรุงซ่อมแซมพร้อมประมาณราคาเพื่อเสนอของบประมาณต่อไป
.
“ขอเน้นย้ำ ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ รวมถึงผู้บริหารโรงเรียนทุกคนให้ความสำคัญและเอาใจใส่เรื่องความปลอดภัยของอาคารสถานที่ ขอให้กำชับสถานศึกษาในสังกัด ปฏิบัติตามมาตรการกำกับ ติดตาม และการตรวจสอบสภาพอาคารเรียนดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ซึ่งในภายหลัง หากเกิดเหตุความเสียหายแก่ทางราชการขึ้นและพบว่าไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่ได้เน้นย้ำกันในวันนี้ จะถือว่าเป็นการปล่อยปละละเลย มีความบกพร่องในหน้าที่ และจะมีการพิจารณาโทษตามระเบียบฯ ต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

- สพฐ. รับมอบอุปกรณ์การเรียนให้กับนักเรียน ในโครงการ “KUBOTA” ปันน้ำใจให้น้อง จากบริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด - 8 ธันวาคม 2023
- รมช.ศธ. มอบนโยบายการศึกษา เขตพื้นที่อุบลราชธานี ชมโรงเรียนจัดการสอนตามนโยบาย “เรียนดี มีคุณภาพ” - 30 พฤศจิกายน 2023
- ศธ. มอบ “รางวัลครูถิรคุณ” ยกย่องครูธวัชชัย ฮีโร่ปกป้องนักเรียนจากชายคลุ้มคลั่ง - 30 พฤศจิกายน 2023