
วันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เยี่ยมชมการบริหารจัดการ และให้กำลังใจ ผู้บริหาร ครูและบุคลากร ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 11 จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งให้บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม (Early Intervention : EI) กับนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษทุกประเภท ระดับเตรียมความพร้อม ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 32 อำเภอ ปัจจุบันมีนักเรียนจำนวน 1,086 คน ผู้บริหาร ครูและบุคลากร รวม 239 คน
.
สำหรับการปฏิบัติงานของศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 11 จังหวัดนครราชสีมา มีบทบาทหน้าที่ในการจัดการศึกษา ในลักษณะศูนย์บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม (Early Intervention : EI) และเตรียมความพร้อมของคนพิการ เพื่อเข้าสู่โรงเรียนเรียนรวม และโรงเรียนเฉพาะความพิการ โดยมีรูปแบบการให้บริการใน 2 ลักษณะ ดังนี้
.
1) การให้บริการในศูนย์ฯ รูปแบบประจำ และไป-กลับ จำนวน 103 คน โดยจัดการเรียนการสอน แบ่งตามประเภทความพิการ และระดับความสามารถของนักเรียน มีห้องเรียน ประกอบด้วย
1. ห้องประเมินแรกรับ จำนวน 1 ห้องเรียน
2. ห้องเรียนช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม (บุคคลที่มีความบกพร่องทางการเห็น บกพร่องทางการได้ยิน บกพร่องทางสติปัญญา บกพร่องทางด้านร่างกายฯ/พิการซ้อน บุคคลออทิสติก) จำนวน 5 ห้องเรียน
3. ห้องเรียนเตรียมความพร้อม (บุคคลที่มีความบกพร่องทางการเห็น บกพร่องทางการได้ยิน บกพร่องทางสติปัญญา บกพร่องทางด้านร่างกายฯ/พิการซ้อน บุคคลออทิสติก) จำนวน 5 ห้องเรียน
4. ห้องเรียนเตรียมความพร้อมส่งต่อ จำนวน 1 ห้องเรียน
5. ห้องเรียนบริการเสริมหลักสูตร จำนวน 18 ห้องเรียน ประกอบด้วย ห้องเรียนกายภาพบำบัด ห้องเรียนกิจกรรมบำบัด ห้องเรียนแพทย์แผนไทย ห้องเรียนจิตวิทยาให้คำปรึกษาและปรับพฤติกรรม ห้องเรียนฝึกพูดโดยครู ห้องเรียนศิลปะบำบัด ห้องเรียนดนตรีบำบัด ห้องเรียนสมาธิบำบัด ห้องเรียนทักษะดำรงชีวิต ห้องเรียนฝึกทักษะอาชีพ ห้องเรียนกระตุ้นประสาทสัมผัส (Sensory Room) ห้องเรียนอาชาบำบัด ห้องเรียนธาราบำบัด และห้องเรียนเศรษฐกิจพอเพียง
.
2) การให้บริการนอกศูนย์ฯ คือ การให้บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มและเตรียมความพร้อม ในรูปแบบห้องเรียนช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม ห้องเรียนเตรียมความพร้อม ห้องเรียนกายภาพบำบัด ห้องเรียนจิตวิทยาให้คำปรึกษา และปรับพฤติกรรม และห้องเรียนแพทย์แผนไทย สำหรับนักเรียนที่มารับบริการแบบไป-กลับ หน่วยบริการอำเภอ 36 หน่วย จำนวน 784 คน นักเรียนที่รับบริการที่บ้านตามโครงการปรับบ้านเป็นห้องเรียนเปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู จำนวน 176 คน นักเรียนในห้องเรียนเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จำนวน 23 คน และนักเรียนห้องเรียนคู่ขนานสำหรับบุคคลออทิสติก ได้แก่ โรงเรียนเมืองนครราชสีมา และโรงเรียนบุญเหลือวิทยานุสรณ์ รวมถึงการจัดกิจกรรมบูรณาการ (โครงการพาน้องท่องโลกกว้าง) แก่นักเรียนที่มารับบริการให้ได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างครอบคลุมทุกด้าน ได้รับโอกาสเปิดโลกทัศน์การเรียนรู้ที่หลากหลาย ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของครู ผู้ปกครอง และนักเรียน โดยเฉพาะด้านทักษะดำรงชีวิต ส่งผลให้เด็กพิการสามารถพัฒนาสมรรถนะได้เต็มตามศักยภาพ ลดข้อจำกัดในการดำเนินชีวิตประจำวัน สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเองอย่างอิสระ
.
นอกจากนี้ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 11 จังหวัดนครราชสีมา ยังมีบทบาทหน้าที่ในการให้บริการด้านการศึกษาพิเศษแก่โรงเรียนเรียนรวม สังกัด สพป.นครราชสีมา. เขต 1-7 สังกัด สพม.นครราชสีมา สังกัด สกร. จังหวัดนครราชสีมา สังกัด สช. และสังกัดอาชีวศึกษา โดยใช้ KORAT MODEL ขับเคลื่อนการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม ผ่านกิจกรรมอบรมผู้ดำเนินการคัดกรองคนพิการ กิจกรรมอบรมการเขียนแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) ส่งเสริมให้นักเรียนพิการเรียนรวมได้รับสื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา (คูปองการศึกษา) อย่างทั่วถึง ลงพื้นที่นิเทศ กำกับติดตาม ให้คำปรึกษา และให้การช่วยเหลือแก่โรงเรียนเรียนรวมร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ส่งผลในจำนวนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ของจังหวัดนครราชสีมา มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง ปีการศึกษา 2564 จำนวนนักเรียน 23,540 คน ปีการศึกษา 2565 จำนวน 21,955 คน และปีการศึกษา 2566 จำนวน 20,645 คน โดยปัจจัยแห่งความสำเร็จ เกิดจากการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ร่วมขับเคลื่อนนโยบายและนำไปปฏิบัติจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อนักเรียน
.
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวภายหลังว่า รู้สึกชื่นชมที่ศูนย์ฯ แห่งนี้ ได้มีการบริหารจัดการสภาพแวดล้อมของศูนย์ฯ ได้อย่างลงตัว สะอาด ปลอดภัย มีการบริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มและเตรียมความพร้อมนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ทั้ง 9 ประเภท ได้ครอบคลุมทุกพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ บูรณาการกิจกรรมเสริมหลักสูตรหลากหลายศาสตร์ในการเตรียมความพร้อมนักเรียน ส่งผลให้นักเรียนที่มารับบริการทั้งที่ศูนย์ฯ หน่วยบริการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีพัฒนาการที่ดีขึ้น รวมถึงการดูแล เอาใจใส่ ความเป็นอยู่ของผู้ปกครองและนักเรียนที่รับบริการแบบประจำเหมือนครอบครัว อีกทั้งยังเป็นศูนย์รวมของสารสนเทศที่สำคัญของการศึกษาพิเศษของจังหวัดนครราชสีมา มีการขับเคลื่อนการบริหารการจัดการศึกษาเรียนรวมโดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในระดับจังหวัดอย่างเข้มแข็ง จนทำให้กลุ่มนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ของจังหวัดนครราชสีมา มีจำนวนลดลงอย่างน่าชื่นชม สมกับพระราชดำรัสของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคารเรียน “สิริวิทยาทร” ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 11 จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2559 ว่า “เป็นศูนย์การศึกษาพิเศษที่ยิ่งใหญ่มาก”
.
ทั้งนี้ รองเลขาธิการ กพฐ. ได้กล่าวชื่นชมการบริหารงานของศูนย์ฯ ว่า “ขอชื่นชมการบริหารงานของผู้อำนวยการศูนย์ฯ ที่ทำให้ครอบครัวศูนย์การศึกษาพิเศษฯ แห่งนี้ อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายในพื้นที่ซึ่งแม้จะต่างสังกัดแต่ก็ประสานงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม อีกทั้งคุณครูและบุคลากรทางการศึกษาของศูนย์ฯ ที่ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่อย่างสุดความสามารถ ด้วยใจรักและปรารถนาดีต่อนักเรียนทุกคน ทำให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับการพัฒนาสมรรถนะของตนเองอย่างเต็มศักยภาพ สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปกติสุข สร้างรอยยิ้มให้พ่อแม่ผู้ปกครอง ลดความเหลื่อมล้ำเพิ่มความเท่าเทียม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง”









- สพฐ. รับมอบอุปกรณ์การเรียนให้กับนักเรียน ในโครงการ “KUBOTA” ปันน้ำใจให้น้อง จากบริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด - 8 ธันวาคม 2023
- รมช.ศธ. มอบนโยบายการศึกษา เขตพื้นที่อุบลราชธานี ชมโรงเรียนจัดการสอนตามนโยบาย “เรียนดี มีคุณภาพ” - 30 พฤศจิกายน 2023
- ศธ. มอบ “รางวัลครูถิรคุณ” ยกย่องครูธวัชชัย ฮีโร่ปกป้องนักเรียนจากชายคลุ้มคลั่ง - 30 พฤศจิกายน 2023