
วันอังคารที่ 1 เมษายน พ.ศ.2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) นายธีร์ ภวังคนันท์ (รองเลขาธิการ กพฐ.) นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.) นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย (ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วย ข้าราชการ สังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมพิธีมอบรางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประจำปี 2568 และพิธีมอบรางวัลประกวดบทความ “ความภาคภูมิใจในการเป็นบุคลากรกระทรวงศึกษาธิการ ณ หอประชุมคุรุสภา ในงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงศึกษาธิการ ครบรอบ 133 ปี โดยมี พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานมอบประกาศเกียรติคุณบัตร และเข็มที่ระลึก “เสมาคุณูปการ” ให้แก่ผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ ศธ. ประจำปี 2568 และ มอบรางวัลประกวดบทความ “ความภาคภูมิใจในการเป็นบุคลากรกระทรวงศึกษาธิการ” ณ หอประชุมคุรุสภา
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า ในโอกาสวันที่ 1 เมษายน 2568 เป็นวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงศึกษาธิการ ครบรอบ 133 ปี นับเป็นวันสำคัญของข้าราชการและบุคลากรของ ศธ. ทุกระดับที่ได้รับผิดชอบภาระหน้าที่ในการพัฒนาคุณภาพของ “คน” ซึ่งเป็นผู้ที่ทำให้เกิดการพัฒนาด้านต่าง ๆ ของชาติบ้านเมืองให้เป็นไปอย่างราบรื่นและได้ผลดี ซึ่งหลักการสำคัญในการจัดการศึกษาหรือพัฒนาคนให้มีความรู้ความสามารถและมีคุณภาพได้อย่างเป็นรูปธรรม คือ “การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต”
รัฐบาลมีการวางกรอบด้านการศึกษาที่สำคัญเอาไว้ ได้แก่ การดูแลเด็กปฐมวัยที่มีมาตรฐานการพัฒนาทักษะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาสนับสนุน การสอนทักษะที่ใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงเพื่อสร้างอาชีพและรายได้ โดยกระทรวงศึกษาธิการจะมีบทบาทที่จะต้องพิจารณาดำเนินการ ให้สอดคล้องกับกรอบฯ ดังกล่าว จึงได้กำหนดนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อผู้เรียนได้เป็นที่ประจักษ์
ประเด็นท้าท้ายสำคัญของการศึกษา ท่ามกลางกระแสของความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ เทคโนโลยีดิจิทัล และสิ่งแวดล้อม การพัฒนาคนในทุกช่วงวัยให้มีความ “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” เกิดผลสำเร็จแก่ผู้เรียนที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ จึงเป็นสิ่งที่มีความท้าทายการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งการพัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นตอบโจทย์ศักยภาพผู้เรียน สร้างโอกาสให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยเข้าถึงการศึกษา และการฝึกอบรมอย่างเท่าเทียม สามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) การจัดให้มีโรงเรียนคุณภาพ และส่งเสริมให้มีกระบวนการสร้างความปลอดภัย ตลอดจนพัฒนาระบบแนะแนวการเรียนและเป้าหมายชีวิต ถือเป็นแนวทางสำหรับส่วนราชการหลัก และองค์กรในกำกับของกระทรวงฯ ได้นำไปใช้ขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาในข้างต้น นอกจากนั้น การพัฒนาการศึกษาของประเทศให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล จำเป็นต้องมี “เครือข่ายการศึกษา” ที่เข้มแข็ง การผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ การพัฒนาและแก้ไขปัญหาของประเทศได้ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องล้วนแล้วแต่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
“ขอขอบคุณผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ ประจำปี 2568 ทุกท่านเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้รับมอบ “เข็มเสมาคุณูปการ” อันทรงเกียรติ โดยทุกท่านถือเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ของการมีส่วนสำคัญในการผลักดันนโยบายการศึกษาร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ และยังเสมือนเป็นตัวแทนของผู้ทำคุณประโยชน์ด้านการศึกษาท่านอื่น ๆ ที่มีเป็นจำนวนมากมายและกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นมิติของการ “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” รมว.ศธ. กล่าว
สำหรับการจัดงานในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนากระทรวงศึกษาธิการขึ้น และรำลึกถึงผู้ทำคุณประโยชน์ที่ล่วงลับไปแล้ว พร้อมทั้งมอบประกาศเกียรติคุณบัตรและมอบเข็ม “เสมาคุณูปการ” แก่ผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 133 ราย มอบรางวัลประกวดบทความ “ความภาคภูมิใจในการเป็นบุคลากรกระทรวงศึกษาธิการ”และมอบเข็มกระทรวงศึกษาธิการแก่ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมรับบริจาคโลหิต ภายใต้โครงการ “ไทยจีนเลือดเดียวกัน” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งได้เริ่ม Kick off ไปเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ณ สภากาชาดไทย โดยตั้งเป้าหมายในการบริจาคโลหิตให้ได้ ปริมาณรวม 5 ล้านซีซี ภายในสิ้นปีนี้ สำหรับในส่วนภูมิภาคนั้น ได้จัดกิจกรรมวันครอบรอบคู่ขนานกัน ณ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนในทุกพื้นที่มีส่วนร่วมในโครงการอันทรงคุณค่านี้ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์และสร้างความสามัคคีในการทำงานเป็นทีมกระทรวงศึกษาธิการ “MOE One Team” อีกด้วย




















