สพฐ. ร่วมประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 10/2568

วันที่ 2 เมษายน 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วย นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย รองโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 10/2568 โดยมี พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานการประชุมฯ พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารหน่วยงานใน ศธ. และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ และออนไลน์ผ่านระบบ Zoom meeting
.
ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการมอบรางวัลและร่วมแสดงความยินดีกับนักเรียนที่ได้รับรางวัลจากการประกวดวาดภาพระบายสี “โตโยต้ารถยนต์ในฝัน Toyota Dream Car Art Contest 2025” ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ ประเทศไทย และได้รับรางวัลชนะเลิศ (Grand Prize) จากการส่งผลงานดังกล่าว ณ ประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ เด็กหญิงวริศรา สัมฤทธิ์ โรงเรียนอนุบาลวังสามหมอ สพป.อุดรธานี เขต 2 ได้รับรางวัลชนะเลิศ Grand Prize จากผลงาน “Lunch car รุ่นอายุ 8 – 11 ปี” และนักเรียนได้รับรางวัลจากการแข่งขันกีฬาสแต็คชิงแชมป์เอเชีย รายการ WSSA 2024 Asian Open Sport Stacking Championships ณ ประเทศมาเลเซีย ได้แก่ เด็กหญิงฐิตาภัทร์ กิจดี โรงเรียนวัดท่าเกวียน (สัยอุทิศ) สพป.ฉะเชิงเทรา เขต 2 ได้รับรางวัล All-Around ชนะเลิศอันดับ 1 สถิติเวลารวม 11.028 วินาที และเด็กหญิงพิชญธิดา สมศรี โรงเรียนวัดท่าเกวียน (สัยอุทิศ) สพป.ฉะเชิงเทรา เขต 2 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 การแข่งขันประเภทคู่ (Double Cycle) รุ่นอายุไม่เกิน 10 ปี โดย รมว.ศธ. ได้แสดงความยินดีและกล่าวอวยพรว่า “ขอให้นักเรียนทั้ง 3 คน ได้เก็บภาพในวันนี้เป็นความภาคภูมิใจของตัวเองในการนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศ พร้อมขอให้นำรางวัลครั้งนี้สร้างเป็นแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิต และพัฒนาตัวเอง ให้เป็นคนฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ อย่างต่อเนื่องต่อไป”
.
จากนั้น ในที่ประชุมได้มีการสรุปผลความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่มาตรฐานสากล โดยในส่วนของ สพฐ. ได้รายงานความก้าวหน้าการอบรมสร้างและพัฒนาข้อสอบวัดความฉลาดรู้ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ในระดับเขตพื้นที่ จำนวน 245 เขตพื้นที่ 78 ห้องเรียน มีกลุ่มเป้าหมาย จำนวนทั้งสิ้น 445,624 คน ลงทะเบียนแล้วจำนวน 404,679 คน อบรมแล้วเสร็จ จำนวน 305,502 คน พร้อมทั้งมีการต่อยอดการสร้างและพัฒนาข้อสอบ ด้วยกิจกรรม “เพิ่มพูน” สมรรถนะความฉลาดรู้ ระยะที่ 1 ในช่วงเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2568 และระยะที่ 2 ในช่วงเดือน พฤศจิกายน 2568 – กุมภาพันธ์ 2569 โดยจะเป็นการจัดการสอนวิชาการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ในรูปแบบ Anywhere Anytime ทางออนไลน์ ผ่านช่องทาง OBEC Channel : OBEC TV , Facebook, YouTube ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดหาวิทยากรเพื่อให้ทันต่อการสอนในเดือนพฤษภาคม 2568 และ สพฐ. ยังได้เชิญชวนเด็กๆ ร่วมกิจกรรมปิดเทอมใหญ่ เด็กไทย ฉลาดคิด เล่นเกม “สนุกคิด ปิดเทอมใหญ่” ตอบคำถาม PISA ชิงเกียรติบัตรและรางวัล ระหว่างวันที่ 8 เมษายน 2568 – 16 พฤษภาคม 2568 นี้
.
ทางด้าน สกศ. ได้นำเสนอแนวโน้มสำคัญด้านการศึกษา ในปี 2025 ที่ทำการวิจัยโดยสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา 5 ด้าน ได้แก่ 1. การเกิดขึ้นของโรงเรียนรูปแบบใหม่ 2. การใช้ AI ในการศึกษาอย่างแพร่หลาย 3. การสนับสนุนการพัฒนาวิชาชีพครู และการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวของครู 4. การสร้างวัฒนธรรมโรงเรียนเพื่อการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน และ 5. การออกแบบการเรียนรู้ที่ตอบสนองทุกคน ส่วนในด้านการเบิกจ่ายงบประมาณ ประจำปี 2568 ของ ศธ. นั้น ในภาพรวมผลการเบิกจ่าย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 จำนวน 52.41% โดยเป็นส่วนของงบลงทุน 21.28% และภาพรวมผลการใช้จ่าย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 จำนวน 54.04% โดยเป็นส่วนของงบลงทุน 54.61% ทาง รมว.ศธ. จึงได้กำชับหน่วยงานในสังกัดและในกำกับ ขอให้ดำเนินการติดตามผลการเบิกจ่ายและการใช้จ่าย ให้เป็นไปตามเป้าหมาย ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน
.
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการรายงานผลสำรวจความเสียหายขั้นต้นของโครงสร้างอาคารหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 โดย สป. สรุปผลสำรวจความเสียหายส่วนราชการและสถานศึกษาในสังกัด ศธ. ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งสิ้น 4,080 แห่ง แบ่งเป็น เสียหายเล็กน้อย/ไม่เสียหาย (สีเขียว) 3,593 แห่ง เสียหายปานกลาง (สีส้ม) 398 แห่ง และเสียหายมาก (สีแดง) 70 แห่ง โดย รมว.ศธ. ได้กำชับให้ดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เรื่องการจัดทำสื่อ หลักสูตร แผนการเผชิญเหตุภัยธรรมชาติต่าง ๆ เช่น แผ่นดินไหว อุทกภัย โดยมอบ สพฐ. ดำเนินการเพื่อแจกจ่ายไปยัง สช. สป. ในการทำงาน มีคณะทำงานจัดทำ และให้คำนึงถึงช่วงวัยด้วย

ข้อมูล : กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.

Loading