
วันที่ 20 เมษายน 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดและบรรยายพิเศษ “การขับเคลื่อนนโยบาย เรียนดี มีความสุข ภายใต้ OBEC ONE TEAM” ในโครงการพัฒนาศักยภาพการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย โดยมี นายภูริวรรษ คำอ้ายกาวิน ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา พร้อมด้วยผู้บริหาร คณะครู และบุคลากรจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ทั้ง 18 แห่ง รวมทั้งสิ้น 250 คน เข้าร่วม ณ โรงแรมเดอะพาลาสโซ กรุงเทพมหานคร
.
สำหรับโครงการดังกล่าว จัดโดยสำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา (สบว.) เพื่อพัฒนาศักยภาพการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ให้แก่ผู้บริหาร ครูและบุคลากรโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ให้มีความรู้ ความเข้าใจในเป้าหมายและอุดมการณ์ของการพัฒนานักเรียนให้มีบุคลิกลักษณะอันพึงประสงค์ และมีคุณภาพการศึกษาระดับเดียวกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำของนานาชาติ อีกทั้งเพื่อขยายผลองค์ความรู้ในการจัดการศึกษาของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยไปยังสถานศึกษาทั่วไปที่จัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้บริหารและครู ซึ่งเป็นบุคลากรที่เพิ่งย้ายมาปฏิบัติหน้าที่ที่โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ทั้ง 18 แห่ง รวมทั้งสิ้น 250 คน แบ่งเป็น บุคลากรของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยใหม่ 6 แห่ง จำนวน 90 คน (ผู้อำนวยการโรงเรียน 6 คน รองผู้อำนวยการโรงเรียน 13 คน ครู 71 คน) และบุคลากรของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยเดิม 12 แห่ง จำนวน 160 คน (รองผู้อำนวยการโรงเรียน 7 คน ครู 153 คน)
.
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ นำโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. และ สพฐ. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล โดยส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาสนับสนุน ตอบโจทย์ศักยภาพของผู้เรียน โครงการพัฒนาในครั้งนี้จึงเป็นโครงการที่ สพฐ. ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะเกี่ยวข้องกับกลุ่มโรงเรียนที่มีบทบาทสำคัญต่ออนาคตของประเทศ โดยโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณฯ เป็น “โรงเรียนเฉพาะทาง” ที่มีเป้าหมายชัดเจนในการสร้างบุคลากรระดับหัวกะทิของประเทศ ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เด็กที่มีศักยภาพเหล่านี้ จะเติบโตขึ้นมาเป็นพลังสมองของประเทศ เป็นนักวิจัย นักพัฒนาเทคโนโลยี เป็นผู้สร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยบนเวทีโลก ครูและผู้บริหารโรงเรียนจึงมีบทบาทสำคัญทั้งในด้านการจัดการเรียนการสอน และการดูแลความปลอดภัยของนักเรียน ให้พวกเขา “เรียนดี มีความสุข” อย่างแท้จริงในทุกพื้นที่ของประเทศ
.
“ในภารกิจนี้ไม่มีตำแหน่งใดสำคัญไปกว่าครูและผู้บริหารโรงเรียน ไม่มีสิ่งใดจะเปลี่ยนแปลงชีวิตเด็กได้เท่ากับความใส่ใจของครู และในโรงเรียนเฉพาะทางเช่นนี้ ภารกิจของครูจึงไม่ใช่แค่การสอน แต่คือ “การสร้างนักคิดระดับชาติ” ที่มีทั้งความรู้ ความสามารถ และความรับผิดชอบต่อสังคม จึงอยากชวนทุกคนให้มองเด็กนักเรียนของเรา ไม่เพียงในฐานะผู้เรียน แต่ในฐานะ “ทรัพยากรแห่งความหวัง” การให้ความรู้กับเด็กกลุ่มนี้ จึงเป็นมากกว่าการสอน แต่คือการเปิดประตูให้พวกเขาได้เห็นศักยภาพของตัวเอง และเป็นการปลุกแรงบันดาลใจให้เขารู้ว่าประเทศชาติกำลังรอเขาอยู่ อีกทั้งการประชุมร่วมกันในครั้งนี้จะเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ เสริมพลังซึ่งกันและกันให้พวกเราเข้าใจเป้าหมายและอุดมการณ์โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณฯ ให้ตรงกัน เพื่อให้เราพัฒนาลูกๆ นักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณฯ ให้มีความ “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” ปลุกพลังนักเรียน ให้คิดเป็น ทำเป็น และใช้ศักยภาพเพื่อประโยชน์ของสังคมประเทศชาติต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว




















