
วันที่ 21 เมษายน 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) มอบหมายให้ นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิด กิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโครงการปลูกฝังทัศนคติด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมแก่เยาวชน สำหรับผู้บริหารโรงเรียนและครู ประจำปี 2568 รุ่นที่ 4 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21–23 เมษายน 2568 ณ เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี โดยมี นายพีระพัชร์ พันธ์วนิชดำรง วิศวกรโยธาปฏิบัติการ นายคมน์ รัศมีโรจน์ ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารงานบุคคล สพม.สมุทรปราการ เข้าร่วมกิจกรรม พร้อมด้วยการลงพื้นที่ตรวจสอบอาคารเรียนโรงเรียนบ้านเจ้าเณร สพป.กาญจนบุรี เขต 1 เพื่อประเมินความปลอดภัยในการใช้จัดการเรียนการสอน และเยี่ยมชมโครงการโรงเรียนสีเขียว เพื่อปลูกฝังด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ให้กับเยาวชนในจังหวัดกาญจนบุรี
.
นายธีร์ ภวังคนันท์ กล่าวว่า ในนามตัวแทนของ สพฐ. ผมรู้สึกเป็นเกียรติและยินดีอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับผู้บริหารสถานศึกษาและครูทุกท่านในกิจกรรมอันสำคัญครั้งนี้ ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการพัฒนาเยาวชนให้เป็น “พลังเยาวชน” ที่เปี่ยมด้วยคุณภาพ มีทัศนคติที่สร้างสรรค์ รู้เท่าทันเทคโนโลยีพลังงาน รักสิ่งแวดล้อม และพร้อมเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน และหวังว่าการจัดกิจกรรมครั้งนี้จะช่วยยกระดับบทบาทของสถานศึกษาในการเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนบ่มเพาะเยาวชนไทยให้เติบโตเป็นพลเมืองที่มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมเดินหน้าสู่อนาคตอย่างยั่งยืนต่อไป
.
กิจกรรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และทัศนคติด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แก่ผู้บริหารและครูในเครือข่าย โครงการห้องเรียนสีเขียว ซึ่งมีโรงเรียนในสังกัด สพฐ. เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 76 โรงเรียน โดยเน้นการเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่เยาวชน และต่อยอดสู่ครอบครัวและชุมชน เพื่อสร้าง “สังคมแห่งการเรียนรู้สีเขียว” (Green Learning Society) โดยภายในงานมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านพลังงานสมัยใหม่ เช่น โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริด (Hydro-floating Solar Hybrid) และ เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ (Small Modular Reactor: SMR) รวมถึงแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร อาทิ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง













