
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ร่วมภารกิจนำโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านการศึกษาภาษาสเปน ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการไทยและสเปน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23–25 เมษายน 2568 ณ กรุงมาดริด ราชอาณาจักรสเปน โดยมีนายอาเบลาร์โด เด ลา โรซา ดิอาซ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อาชีวศึกษา และการกีฬาแห่งราชอาณาจักรสเปน เป็นผู้ร่วมลงนาม พร้อมด้วยนายเฟลิเป เด ลา โมเรนา กาซาโด เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสเปนประจำประเทศไทย นายโวสิต วรทรัพย์ เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรไทยประจำกรุงมาดริด พลเอก อภิชาติ อุ่นอ่อน ประธานคณะทำงานฝ่ายอำนวยการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะผู้แทนระดับสูงจากทั้งสองประเทศร่วมเป็นสักขีพยาน
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า “ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยขยายโอกาสทางการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ภายใต้บันทึกความเข้าใจด้านการศึกษาภาษาสเปนนี้ สพฐ. จะผลักดันการสนับสนุนการจัดส่งครูชาวสเปนมาสอนในโรงเรียนสังกัด การพัฒนาครูผู้สอน การสนับสนุนสื่อการเรียนรู้ และการขยายโครงการเรียนออนไลน์ระหว่างไทย–สเปน เพื่อยกระดับสมรรถนะภาษาให้กับนักเรียนไทย”
ในการศึกษาดูงานครั้งนี้ คณะได้เยี่ยมชมโรงเรียนมัธยม Instituto de Educación Secundaria (IES) Avenida de los Toreros กรุงมาดริด ซึ่งเป็นโรงเรียนโปรแกรมสองภาษา ที่ดำเนินการสอนวิชาหลัก ได้แก่ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ โดยใช้การเรียนการสอนทั้งภาษาอังกฤษและภาษาสเปน และมีครูผู้ช่วยสอนจากประเทศเจ้าของภาษาร่วมสอน เพื่อเสริมสร้างทักษะทางภาษาและส่งเสริมการเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่าง นอกจากนี้ โรงเรียนยังบูรณาการสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย และนำเทคโนโลยี AI มาใช้เพื่อเสริมศักยภาพการเรียนรู้ของนักเรียน โดยเลขาธิการ กพฐ. และคณะ ยังได้สังเกตการณ์การจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนโปรแกรมสองภาษา เพื่อศึกษาแนวทางที่อาจนำมาประยุกต์ใช้กับระบบการศึกษาไทยในอนาคต
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การเดินทางครั้งนี้ยังได้เปิดโอกาสให้คณะได้หารือกับ Ms. Josefa Beltran เลขาธิการกรมการศึกษาและอาชีวศึกษา แคว้นกาตาลุญญา ณ เมืองบาร์เซโลนา ในประเด็นการบริหารจัดการศึกษาและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยฝ่ายไทยได้เสนอแนวคิดนโยบาย ‘Anywhere Anytime’ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวทางการพัฒนาการศึกษา การได้เห็นแนวปฏิบัติที่ดีของสเปน ทั้งการให้มีการจัดการเรียนการสอนโดยครูเจ้าของภาษา และการบริหารจัดการศึกษาโดยบูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นแนวทางที่ สพฐ. จะนำมาปรับใช้ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพเยาวชนไทยให้ก้าวทันโลกอย่างแท้จริง”














