
วันที่ 5 พฤษภาคม 2568 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในพิธีปิดการแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ระดับชาติ ประจำปีการศึกษา 2568 ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-5 พฤษภาคม 2568 ณ โรงเรียนสุรนารีวิทยา จังหวัดนครราชสีมา โดยมี นายสุทธินาถ ทานนท์ รองศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา นายวชิรวรรธน์ วัฒนสันติพงศ รอง ผอ.สพม.นครราชสีมา นายธนวัฒน์ สุขเกษม ผอ.โรงเรียนสุรนารีวิทยา ผู้บริหารโรงเรียนโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (SMTE) พร้อมด้วยครูและนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกในระดับเครือข่าย ของโรงเรียนในโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย และโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จำนวน 350 คน จากโรงเรียนมัธยมศึกษากว่า 240 แห่งทั่วประเทศ ที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ รวมทั้งสิ้น 33 ทีม เข้าร่วม
.
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ นำโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. และว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงศ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. จากนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ที่ขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาลงสู่นักเรียนเป็นรายบุคคล ตามหลักการจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิตและการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล การแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ระดับชาติ ประจำปีการศึกษา 2568 ในวันนี้ จึงเป็นเวทีที่มีความสำคัญ และมีมาตรฐานของการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ โดยส่งเสริมให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ผ่านการทำงานร่วมกันอย่างมีส่วนร่วม รู้จักวิธีการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ที่มีความซับซ้อน ผ่านการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ที่หลากหลายทางด้านวิทยาศาสตร์บนฐานข้อมูล หลักการ ทฤษฎีที่ถูกต้อง พร้อมกับการตอบคำถามเพื่อแก้ข้อโต้แย้งอย่างมีเหตุผล พร้อมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจและพัฒนาทักษะแก่ครูผู้สอนวิชาฟิสิกส์ และนักเรียน เกี่ยวกับโจทย์ เทคนิควิธี และรูปแบบการแข่งขัน รวมถึงเป็นการประชาสัมพันธ์และเตรียมความพร้อมให้แก่นักเรียนในการทำวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ระดับสูง เพื่อการศึกษาต่อและการประกอบอาชีพในอนาคตต่อไป
.
สิ่งสำคัญ คือ การแข่งขันนี้ทำให้เราได้เห็นศักยภาพของนักเรียน ครู และผู้บริหาร ที่ได้รวมใจรวมพลังกัน โดยนักเรียนสามารถดึงศักยภาพที่ถ่ายทอดออกมาในช่วงเวลาที่จำกัด ในการจับประเด็น การวิเคราะห์ การเชื่อมโยงทฤษฎีกับการทดลอง คิดแบบมีเหตุและผล การกำกับโดยบทบาทและหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมาย ทั้ง 4 ฝ่าย นำเสนอ ซักค้าน วิพากษ์ สังเกตการณ์ โดยมีเรื่องของเวลาเป็นข้อจำกัด ทำให้เห็นศักยภาพในการคิดวิเคราะห์ การตัดสินใจ ได้อย่างดีด้วยสติและปัญญา เป็นตัวอย่าง “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” ตามนโยบายของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ซึ่งนำไปสู่ performance ที่จะติดตัวเด็กและเป็นรากฐานอย่างยั่งยืนต่อไป เอื้อต่อการเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดีในอนาคต เพราะเป็นการคิดที่เป็นรากฐานสำคัญของการแสวงหาองค์ความรู้ ที่รวมทั้งความมุมานะ อุตสาหะ อดทนต่อการเรียนรู้ ได้ลงมือทำและคิดวิเคราะห์ด้วยตนเอง ทักษะเหล่านี้จะทำให้น้องๆ นักเรียนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เข้มแข็ง สามารถสื่อสารได้อย่างเข้าใจ มีเหตุมีผล มีคุณลักษณะที่จำเป็นในโลกยุคปัจจุบัน
.
“โอกาสนี้ ขอแสดงความยินดีกับนักเรียนที่ชนะเลิศการแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ รวมทั้งครูผู้ควบคุมทีม ซึ่งแสดงถึงศักยภาพที่นักเรียนได้รับการถ่ายทอดจากครูผู้สอน และดึงศักยภาพนั้นออกมา เห็นถึงความมุ่งมั่น ความขยันหมั่นเพียร ในการฝึกฝนพัฒนาตนเอง เป็นที่น่าภาคภูมิใจของนักเรียนที่ผ่านเข้ารอบทั้ง 33 ทีมและผ่านการคัดเลือกจนถึง 4 ทีมในวันนี้ ทุกๆ คนได้ทำบทบาทของตนเองอย่างดีเยี่ยม ในโอกาสที่ตนได้รับจากการรวมแรง รวมใจ รวมพลังของครูและผู้บริหาร ตั้งแต่ที่ได้รับโจทย์ แต่สามารถคิด วิเคราะห์ ออกมาเป็นความฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ ได้อย่างแท้จริง รวมทั้งถ่ายทอดบทบาทที่ตนเองได้รับมอบหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหวังอย่างยิ่งว่าจะได้รับการต่อยอดองค์ความรู้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป รวมทั้งครูผู้ควบคุมทีมจะได้นำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการสอนให้มีมาตรฐานสูงขึ้นทัดเทียมกับนานาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะช่วยให้เยาวชนไทย มีความสนใจในการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น เพื่อที่ในอนาคตประเทศไทยจะสามารถผลิตบุคลากรทางวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพ เพิ่มโอกาสการแข่งขันของประเทศ ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดกิจกรรมดีๆ เช่นนี้ ทำให้นักเรียนได้รับความภาคภูมิใจ ได้รับโอกาสและประสบการณ์ที่ดี สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณคณะกรรมการผู้ตัดสินจากสถาบันอุดมศึกษาซึ่งให้ความรู้เฉพาะทางขั้นสูงให้กับนักเรียน ครู รวมทั้งผู้ที่สนใจ ทำให้เข้าใจธรรมชาติของวิชาฟิสิกส์ได้อย่างดี และ สบว.สพฐ. ที่ทำให้โครงการนี้เกิดความยั่งยืน รวมถึงผู้บริหารสถานศึกษาทุกท่านที่เกี่ยวข้อง ขอให้ครู นักเรียน ผู้บริหาร และทุกท่าน เต็มเปี่ยมด้วยพลังความคิด พลังปัญญา ในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้แก่ตนเอง สังคม และประเทศชาติ และขอขอบคุณคณะกรรมการทุกท่านที่ทำให้นักเรียนของเราได้มีโอกาสแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
.
สำหรับผลการแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ระดับชาติ ประจำปีการศึกษา 2568 มีดังนี้
รางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้แก่ ทีมจากโรงเรียนวิสุทธรังษี จังหวัดกาญจนบุรี
รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีมจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร
รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีมจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
รองชนะเลิศอันดับ 3 ได้แก่ ทีมจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี


