ศธ. ผนึกกำลัง 3 หน่วยงานหลัก เดินหน้าปฏิบัติการ “นักเรียนปลอดภัย ห่างไกลบุหรี่ไฟฟ้าและยาเสพติด”

วันที่ 6 พฤษภาคม 2568 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดความร่วมมือและปฏิบัติการตรวจร่วม “นักเรียนปลอดภัย ห่างไกลบุหรี่ไฟฟ้าและยาเสพติด” ณ บริเวณถนนราชดำเนินนอก หน้ากระทรวงศึกษาธิการ โดยมี นายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นาย อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พลตำรวจเอก อัคราเดช พิมลศรี ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. คณะผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมกว่า 250 คน

การปฏิบัติการตรวจร่วม “นักเรียนปลอดภัย ห่างไกลบุหรี่ไฟฟ้าและยาเสพติด” ในครั้งนี้ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมของภาคีเครือข่ายทุกระดับ ในการขับเคลื่อนนโยบายด้านความปลอดภัยในสถานศึกษาอย่างบูรณาการ โดยใช้ “โมเดลการทำงานร่วมกัน” ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานภาคีในพื้นที่ ซึ่งร่วมมือกันตั้งแต่การเฝ้าระวัง การดูแลช่วยเหลือ ไปจนถึงการป้องกันและฟื้นฟู โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือนักเรียนต้อง “ปลอดภัยและมีความสุข” ตามนโยบายหลักของกระทรวงศึกษาธิการ “เรียนดี มีความสุข” กิจกรรมดังกล่าวเป็นความต่อเนื่องจากโครงการที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2567 ภายใต้กิจกรรมเฝ้าระวังและสร้างความปลอดภัยในโรงเรียนศรีอยุธยา ในพระอุปถัมภ์ฯ รวมถึงโครงการ “นักเรียนปลอดภัยห่างไกลยาเสพติด” ที่ดำเนินการในปีที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนถึงความจำเป็นในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและเข้มข้น กระทรวงศึกษาธิการจึงขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดทำแผนเผชิญเหตุ เฝ้าระวัง และดูแลความปลอดภัยในทุกมิติ รวมถึงป้องกันการเข้าถึงยาเสพติดและบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยในวันนี้ได้มีการประชุมเพื่อรับหลักการเบื้องต้น และเปิดโอกาสให้แต่ละจังหวัดแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและยกระดับการปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพในพื้นที่อย่างแท้จริง

 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ กล่าวว่า ขอขอบคุณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่ายทุกท่าน ที่ได้ร่วมกันแสดงเจตจำนงและขับเคลื่อนภารกิจ เพื่อสร้างความปลอดภัยในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษาด้านสวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตของผู้เรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งสถานศึกษาต้องเป็นสถานที่ปลอดภัย ปลอดยาเสพติด ปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เฝ้าระวังการใช้ความรุนแรงทั้งในและนอกสถานศึกษาที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย และจิตใจของผู้เรียน ดังนั้น การสร้าง “โรงเรียนปลอดภัย” จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ต้องช่วยกันดูแล ป้องกัน และปราบปราม และสิ่งสำคัญที่ตนได้เน้นย้ำเสมอคือ “ทำเต็มความสามารถ อย่าประมาท พลาดไม่ได้” ขอให้ทุกท่านร่วมกันปฏิบัติภารกิจนี้ด้วยหัวใจ “ทำดี ทำได้ ทำทันที”

 ด้านนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กิจกรรมวันนี้ถือเป็นการแสดงพลังความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่าย ที่บูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อสร้าง “ความปลอดภัยในเชิงพื้นที่” อย่างแท้จริง ในการดูแลนักเรียนให้ปลอดภัยจากสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งด้านยาเสพติดและความเสี่ยงต่างๆ จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองทุกระดับร่วมขับเคลื่อนภารกิจครั้งนี้ ทั้งในด้านการสนับสนุนโรงเรียน ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดทำแผนที่จุดเสี่ยง รวมถึงการลงพื้นที่ตรวจร่วมกับตำรวจ กระทรวงศึกษาธิการ และภาคีเครือข่ายในพื้นที่การดำเนินงานดังกล่าว ซึ่งมิได้เป็นเพียงการตรวจตราเท่านั้น หากแต่ยังเป็นกลไกในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียน ชุมชน และรัฐ ให้กลับมาเป็นหนึ่งเดียวกัน ในการร่วมกันสร้างความปลอดภัยให้กับนักเรียนและประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศไทย

ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดนโยบายด้านความปลอดภัย โดยส่งเสริมให้มีการพัฒนากระบวนการสร้างความปลอดภัยสำหรับผู้เรียน เพื่อใช้เป็นแนวทางให้หน่วยงานในสังกัดนำไปขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงได้ดำเนินโครงการ “นักเรียนปลอดภัยและห่างไกลยาเสพติด” เพื่อยกระดับการเฝ้าระวังและสร้างความปลอดภัยเชิงรุกให้แก่นักเรียนในสังกัด โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงและความรุนแรงในหมู่นักเรียน พร้อมทั้งสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ปกครอง โดยดำเนินการควบคู่กับมาตรการดูแล คุ้มครอง ช่วยเหลือ และเฝ้าระวังพฤติกรรมนักเรียนทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา รวมถึงการลงพื้นที่ตรวจสอบจุดเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับภาคีเครือข่ายในลักษณะบูรณาการ เพื่อให้การดำเนินงานด้านความปลอดภัย และการควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าและยาเสพติดในกลุ่มนักเรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

Loading