
วันที่ 6 พฤษภาคม 2568 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว. ศธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมเสวนาวิชาการ “การป้องกันและแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา” พร้อมด้วย นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช. ศธ.) นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยมี นายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวรายงานถึงสถานการณ์และเป้าหมายของการจัดงานในครั้งนี้ พร้อมด้วย นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) นางวรางคณา ไชยเรือน ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ นายตฤณ ก้านดอกไม้ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สพฐ. และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ
.
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. กล่าวว่า การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในหมู่นักเรียน นักศึกษา เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ด้วยเหตุนี้ กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2568 กำหนดแนวทางป้องกันและควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาและหน่วยงานในสังกัด โดยให้ถือเป็นเขตปลอดบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเคร่งครัด รวมถึงกำหนดให้ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บังคับบัญชาทุกระดับมีหน้าที่ในการสอดส่องดูแล หากพบว่าครูหรือบุคลากรเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการตามระเบียบทางวินัยทันที
.
“ผมขอเน้นย้ำให้สถานศึกษาทุกแห่งเป็นพื้นที่ปลอดภัย ปลอดยาเสพติด ปลอดบุหรี่ไฟฟ้า และปลอดความรุนแรง ภายใต้แนวคิด ‘เรียนดี มีความสุข’ ที่เราขับเคลื่อนร่วมกัน โดยให้ความสำคัญกับการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างสถานศึกษา เจ้าหน้าที่ พสน. ตำรวจท้องถิ่น และผู้ปกครอง ในการดูแลเด็กและเยาวชนอย่างใกล้ชิด” รมว. ศธ. กล่าว
.
ด้านนายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้ากลายเป็นปัญหายุคใหม่ในหมู่นักเรียนและนักศึกษา ด้วยความเข้าใจผิดว่าเป็นของปลอดภัย เข้าถึงง่ายผ่านโซเชียลและช่องทางออนไลน์โดยไม่มีการตรวจสอบอายุ จึงจำเป็นต้องร่วมมือทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและเอกชนในการป้องกันควบคุม โดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้สถานศึกษาต้องไม่มีการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเด็ดขาด ประกอบกับ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีการกำชับเร่งด่วนให้ทุกฝ่าย ดูแลอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้สถานศึกษา ต้องไม่มีการขายบุหรี่ไฟฟ้าให้เยาวชน
.
กิจกรรมในวันนี้ประกอบด้วยการเสวนาวิชาการ นิทรรศการ และการแลกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติจากภาคีเครือข่าย รวมถึงผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กรมควบคุมโรค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ มีผู้เข้าร่วมกว่า 220 คน
.
การประชุมครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการในการยกระดับการดูแลเยาวชนไทยให้ปลอดภัยจากบุหรี่ไฟฟ้าและสิ่งเสพติดในสถานศึกษาอย่างยั่งยืน















